ข่าวอื่นๆ

เปิดใจ! สมยศ นายกส.บอลไทยสองปี “ล้ม-ลุก” สู่การเดินหน้าพัฒนาฟุตบอลไทย (ตอน 1)


เปิดใจ "พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง" นายกสมาคมฯ สองปี “ล้ม-ลุก” สู่การเดินหน้าพัฒนาวงการลูกหนังไทย (ตอน 1)

วงการลูกหนังภายใต้การบริหารจัดการตามนโยบายของ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารและสภากรรมการ กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 และก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างมีระบบ แบบแผน อย่างเต็มรูปแบบนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดสองปีที่ผ่านมา มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในบ้านหลังนี้ บ้านที่ถือว่าเป็นกีฬายอดนิยมอันดับ 1 ของคนไทย “ล้ม-ลุก-ยืน-ก้าวไปสู่การพัฒนา” คืออะไร? ไปติดตามได้จากบทสัมภาษณ์ นายกสมาคมลูกหนัง พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ก่อนก้าวสู่ปีที่ 3 ของการทำงาน

"ก็ต้องขอเล่าย้อนกลับไปเมื่อวันแรกที่เข้ามาทำหน้าที่ในปี 2016 บอกตรงๆ คาดไม่ถึงว่าจะพบปัญหาต่างๆ ในสมาคมฯ ที่ผู้บริหารชุดเดิมทิ้งเอาไว้มากมาย โดยเฉพาะเรื่องภาษี เรียกง่ายๆ ว่า ณ เวลานั้น เปรียบสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ไม่ต่างกับบ้านที่ผุพัง รอการซ่อมแซมแก้ไข สรุปง่ายๆ คือ ปีแรกของการทำงาน คือ “ปีแห่งการแก้ปัญหา” นายกสมาคมลูกหนังเมืองไทย กล่าวเริ่ม

“ปีที่สองของการทำงาน คือ ปี 2017 เมื่อปัญหาต่างๆ ได้ถูกสะสางแก้ไข จนหลายๆ เรื่องกลับเข้าสู่ระบบอย่างที่ควรจะเป็น ก็คือ บ้านที่ผุพังหลังนี้ได้เริ่มมีการซ่อมแซมให้มีสภาพดีขึ้น เป็นบ้านที่น่าอยู่อาศัย พร้อมที่จะต้องรับแขกบ้านแขกเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

“ผู้บริหารสมาคมฯ และสภากรรมการ รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้เริ่มกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบาย ทิศทางในการทำงาน เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างเป็นระบบ ถูกต้องและยั่งยืน จึงได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายการทำงานอย่างชัดเจน

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ หลายด้าน ดังนี้
1.เร่งหาสถานที่ตั้ง และก่อสร้างสมาคมฯ ที่เป็นหลักแหล่งและสามารถเชิดหน้าชูตา เพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือนได้อย่างมีศักดิ์ศรีของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และถือเป็นหน้าตาของประเทศไทย

2. นำองค์ความรู้จากคนในวงการฟุตบอลทุกภาคส่วน และจัดตั้ง “คณะทำงานสภาปฏิรูป เพื่อจัดทำแผนแม่บทพัฒนาฟุตบอลแห่งชาติ ระยะยาว ๒๐ ปี (พุทธศักราช ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

3. ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่จำเป็นต่อกีฬาฟุตบอล โดยจัดให้มีหลักสูตรการอบรมต่างๆ ทั้งภายในประเทศและส่งไปอบรมในต่างประเทศ เช่น ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน ผู้ควบคุมการแข่งขัน ผู้ประเมินผู้ตัดสิน ตลอดจนพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของสมาคมฯ ให้มีความรู้ความสามารถ มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และมีจำนวนมากขึ้นเพื่อเพียงพอต่อการพัฒนาในอนาคต

4.จัดการและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลตั้งแต่ระดับเยาวชน และทุกๆ ระดับ โดยเริ่มนับหนึ่ง จากการสร้างศูนย์พัฒนาศักยภาพนักกีฬาฟุตบอล ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และเปิดใช้อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว

5.หาแนวร่วมจากภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้การพัฒนาด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง สามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว เช่น ขอการสนับสนุนที่ดินจากรัฐบาล ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี  โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลตำรวจ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการวางรากฐานของการพัฒนาวงการฟุตบอล

6. นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของสมาคมฯ และสนับสนุนการพัฒนาด้านต่างๆ ของวงการกีฬาฟุตบอล เช่น เครื่องมือสื่อสารระหว่างผู้ตัดสิน

7. กำหนดแนวทางในการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย ให้มีรูปแบบการเล่นเป็นรูปแบบเดียวกัน โดยว่าจ้างบริษัทเอคโคโน เมธอด ซอคเกอร์ เซอร์วิส มาดำเนินการวางโครงสร้างการพัฒนา และการฝึกนักกีฬาในระดับเยาวชน

8.มอบให้ บริษัทเอกชน เข้าร่วมเป็นผู้จัดหาผู้สนับสนุนทางการเงิน (สปอนเซอร์) เพื่อทำให้สมาคมฯ มีรายได้ และงบประมาณเพียงพอในการพัฒนา และสนับสนุนนักกีฬาทีมชาติไทยทุกชุด ทั้ง ฟุตบอล ฟุตซอล และฟุตบอลชายหาด ทั้งชายและหญิง อย่างทั่วถึง

9. การนำวิทยาศาสตร์การแพทย์การกีฬา และโภชนาการ มาใช้เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งนักกีฬาฟุตบอล โดยได้รับความร่วมและสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลตำรวจ

10. การหยุดยั้งขบวนการล็อกผลสกอร์ล่วงหน้า หรือ “ล้มบอล” โดย สมาคมฯ ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือเป็นการแก้ปัญหาการกำหนดผลการแข่งขันล่วงหน้า ที่มีการจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักกีฬา ผู้ตัดสิน เจ้าหน้าที่สโมสร และนายทุน ได้เป็นครั้งแรกในวงการฟุตบอลไทย ก่อนที่ภัยร้ายนี้จะสร้างความเสียหายให้ฟุตบอลไทย.

BUGABOO SPORTS

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark