ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

Green Report : ผ้าอนามัยซักได้ ทางเลือกสาวรักสิ่งแวดล้อม

เช้านี้ที่หมอชิต - กรีนรีพอร์ต วันนี้เสนอทางเลือกให้กับบรรดาผู้หญิงที่รักสิ่งแวดล้อม ซึ่งไอเดียที่ว่านี้ นอกจากจะช่วยลดขยะแล้ว ยังช่วยประหยัดเงินอีกด้วย ติดตามกับคุณกมลาสน์ เอียดศรีชาย

ถือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้หญิงที่รักษ์โลก ซึ่ง คุณเก๋ เกศินี จิรวณิชชากร เจ้าของไอเดียผ้าอนามัยซักได้ เล่าถึงที่มาที่ไปว่า เคยไปใช้ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่น และได้เรียนรู้วิถีชีวิตของหญิงสาวที่นั่น ซึ่งมีการใช้ผ้าอนามัยซักได้กันอย่างแพร่หลาย ด้วยความเข้าใจที่ว่า เลือดประจำเดือนของผู้หญิงเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ได้สกปรกและมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์อย่างที่หลายคนคิด นอกจากว่าคุณสาว ๆ จะปล่อยให้เกิดการหมักหมม หรือทิ้งเวลานานเกินไป โดยคุณเก๋บอกว่า จากการทดลองใช้ผ้าอนามัยชนิดนี้ด้วยตัวเองได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงได้ลองผลิตวางขาย จนได้รับความสนใจจากกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี

โดยวิธีจัดการผ้าอนามัยที่เลอะระหว่างวัน แค่พับใส่กล่องหรือถุงซิปล็อก ก่อนนำกลับมาซักที่บ้าน วิธีซักคือให้แช่น้ำไว้ แล้วจึงซักด้วยสบู่อ่อน ๆ ถ้าเป็นคราบฝังแน่น ก่อนซักให้แช่ด้วยผงขจัดคราบสกปรก ทิ้งไว้ 3 ชั่วโมง หรือข้ามคืน ห้ามซักด้วยน้ำอุ่น เพราะจะทำให้คราบฝังแน่นยิ่งขึ้น และควรตากแดด หรือตากในที่อากาศถ่ายเท แม้ราคาจะหลักร้อยต่อชิ้น สูงกว่าผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้ง แต่เมื่อเทียบกันจริง ๆ แล้วถือว่าประหยัดกว่า เพราะจ่ายครั้งเดียว ใช้ได้ยาวนาน 5-10 ปี ที่สำคัญช่วยลดขยะที่ย่อยสลายยากด้วย

ข้อมูลกรมอนามัย ระบุว่า แต่ละปีประเทศไทยมีขยะจากผ้าอนามัยมากกว่า 200,000 ตัน มาจากหญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ที่มีสุขภาพดี ประมาณ 17 ล้านคน โดยเฉลี่ยผู้หญิงจะมีประจำเดือนประมาณ 3-5 วัน ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยประมาณ 20 ชิ้นต่อเดือน หรือ 240 ชิ้นต่อปี นั่นหมายถึงจะมีขยะประเภทนี้เกิดขึ้น 4,000 ล้านชิ้นต่อปี

แต่ในเมื่อเรายังจำเป็นต้องใช้ ก็ต้องรู้จักวิธีการจัดการกับขยะอย่างถูกวิธี โดยควรแยกขยะตั้งแต่ที่บ้าน มัดปากถุงให้เห็นเด่นชัด ว่าเป็นขยะจากผ้าอนามัย ไม่นำไปปะปนกับขยะที่สามารถรีไซเคิลได้

เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม...รอไม่ได้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark