ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

Green Report : จัดการน้ำชุมชนบึงชำอ้อ

เช้านี้ที่หมอชิต - กรีนรีพอร์ต วันนี้ไปดูการจัดการน้ำชุมชน ที่พัฒนาคลองเป็นแก้มลิง และช่วยเพิ่มรายได้ของชุมชนได้ด้วย ติดตามกับคุณบอย ธนพัต

ร่องสวนที่พบทั่วไปในพื้นที่เกษตรกรรมของ ชุมชนบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ชาวบ้านเรียกว่า "แก้มลิง" ซึ่งต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ที่เป็นทุ่งรับน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ชาวบ้านพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าไม่ว่าจะฤดูแล้ง หรือน้ำท่วม ไม่เกิดปัญหาแต่อย่างใด

พื้นที่หลัก ๆ เป็นร่องสวนปาล์มน้ำมัน ถูกพัฒนามาจากร่องสวนส้มเดิมที่เลิกปลูกไปแล้ว ปรับมาใช้ช่วยเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ และหน่วงน้ำในช่วงฤดูฝนก่อนที่น้ำจะเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยกระจายน้ำเข้าร่องสวนได้ถึง 22,000 ไร่ มีปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรทั้งระบบ 29 ล้านลูกบาศก์เมตร จนปัจจุบันสามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิด หรือ "เกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่"

ส่วนพื้นที่สาธารณะ และริมคลองรับ-ส่งน้ำ จากชลประทาน ก็ไม่เว้นว่าง มีข้อตกลงชุมชนว่า ให้ปลูกปาล์มน้ำมัน รวมกว่า 10,000 ต้นทิ้งไว้ เพื่อป้องกันการพังทลายของตลิ่งและป้องกันสิ่งปลูกสร้างริมคลอง และหากมีรายได้จากการขายปาล์มน้ำมัน ให้นำไปสนับสนุนเป็นกองทุนประจำหมู่บ้านสำหรับภัยพิบัติ และพัฒนาแหล่งน้ำ

ชุมชนบึงชำอ้อ เป็นอยู่ในช่วงกลางน้ำ ในเขตชลประทานที่รับน้ำมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เข้าคลองระพีพัฒน์ ก่อนจะถูกสูบเข้าคลองซอยต่าง ๆ จากนั้นแต่ละบ้านจะสูบเข้าสวนของตนเองเพื่อกักเก็บน้ำและใช้ทำการเกษตร แต่ถ้าหากช่วงไหนน้ำน้อย การจัดการน้ำจะเป็นลักษณะแบ่งกันใช้ หมุนเวียนกันสูบ เป็นการพึ่งพากันเอง โดยไม่หวังรอเพียงแค่ภาครัฐ น้ำจากชลประทาน

แนวคิดการทำเกษตรร่องสวน เริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะช่วยให้การจัดการน้ำด้านการเกษตรง่ายและประเมินล่วงหน้าได้ ล่าสุด ชุมชนบึงชำอ้อ ถูกยกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริชุมชนคลองรังสิต จังหวัดปทุมธานี ... เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมรอไม่ได้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark