ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

เผยวัคซีนโควิด-19 ในไทยยังให้ผลดีกับสายพันธุ์อังกฤษ

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ปัจจัยในการควบคุมโรคโควิด-19 อยู่ที่วัคซีน ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนกว่า 300,000 คน ขณะเดียวกันมีข้อมูลยืนยันว่าประสิทธิภาพของวัคซีน ยังให้ผลดีกับไวรัสสายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดในขณะนี้

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วประมาณ 1.1 ล้านโดส จากวัคซีน 2 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวค และแอสตราเซเนกา ถูกกระจายไปแล้วทั่วประเทศจำนวนกว่า 900,000 โดส 

จากข้อมูลจนถึงเมื่อวานนี้ (7 เม.ย.) มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 323,989 คน ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และ อสม. มากที่สุดร้อยละ 42 ส่วนจำนวนผู้ฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 โดสแล้ว มีจำนวน 49,635 คน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ยังเห็นว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจากการทดสอบ พบว่าวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทย ยังคงใช้ได้ผลดีกับไวรัสสายพันธุ์อังกฤษที่กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้ แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งยังไม่พบว่าเข้ามาในประเทศไทย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ เน้นย้ำอีกว่า สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 โดสแล้ว ยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้อีก และแพร่กระจายไปสู่คนอื่นด้วย แต่โอกาสที่จะเสียชีวิตหรือติดเชื้อรุนแรงน้อยมาก ดังนั้น แม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบแล้ว ก็ยังคงต้องใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันตัวเอง และป้องกันสังคมรอบข้างด้วย

ส่วนการกระจายวัคซีนต่อจากนี้ มีการวางแผนเตรียมฉีดวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส ซึ่งเป็นจำนวนมาก และต้องใช้สถานที่และองค์กรต่าง ๆ ที่จะช่วยในการกระจายวัคซีนต่อไป พร้อมยืนยันว่าทางภาครัฐไม่ได้ปิดกั้นให้เอกชนนำเข้าวัคซีนแต่อย่างใด

ด้าน นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน บอกว่า การที่ภาคเอกชนสามารถนำเข้าหรือรับวัคซีนยี่ห้ออื่น นอกเหนือจากวัคซีนซิโนแวค และเอสตราเซเนกา เพื่อกระจายให้กับประชาชน ถือเป็นการเพิ่มทางเลือก และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของทางภาครัฐ แต่ติดขั้นตอนการจดทะเบียนที่ยุ่งยาก และมีหลายกระบวนการที่ต้องใช้เวลา

ทางออกคือให้ องค์การเภสัชกรรม สำรวจความต้องการและเป็นผู้นำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ จากบริษัทผู้ผลิต เข้ามาจำหน่ายให้กับภาคเอกชน เพื่อนำไปกระจายต่อ

และวันนี้ (8 เม.ย.) คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก็กำลังอยู่ระหว่างการประชุมเพื่อวางแผนกระจายวัคซีนจำนวน 1 ล้านโดส ที่จะมาถึงประเทศไทยในวันที่ 10 เมษายนนี้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark