ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : ทำไมโครงสร้างคมนาคมไม่เคยกลับมาเป็นของแผ่นดิน? ตอน 1

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ชวนคิด ทำไมโครงสร้างคมนาคมหลังครบกำหนดสัมปทาน ไม่เคยกลับมาเป็นของแผ่นดิน แต่จบที่การขยายสัมปทานเพิ่ม ใครได้ ใครเสีย ติดตามจาก คุณสมโภชน์ โตรักษา

เมื่อต้นปีที่แล้ว มีข่าวใหญ่ ครม.ไฟเขียวต่อสัมปทานทางด่วน 3 สัญญารวม 15 ปี 8 เดือน ให้กับเอกชนคู่สัญญา แลกกับการยุติข้อพิพาทรวม 17 คดี ที่มีการอ้างมูลค่าข้อพิพาทสูงถึง 3 แสนล้านบาท เซ็ตซีโรแล้ว รัฐได้ประโยชน์สูงสุดจริงหรือ ไปค้นหาคำตอบกับ คุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ หวังยุติข้อพิพาทด้วยการออกมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว ต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนให้ แลกกับการยุติข้อพิพาท 17 คดี 3 แสนล้าน ท่ามกลางข้อโต้แย้งว่าหากรัฐบริหารจัดการเองอาจได้ผลประโยชน์มากถึง 4 แสนล้านบาท อีกทั้งค่าบริการที่บริโภคต้องจ่ายจะลดลงได้ด้วย เรื่องนี้กลายเป็นคดีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา

โครงการโทลล์เวย์เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ครบสัญญาแล้ว แต่กลับไม่ตกเป็นของแผ่นดิน ที่น่าสนใจคือ มีการฟ้องให้เพิกถอนมติ ครม.ใน 2 รัฐบาล คือ การรับรองการขึ้นราคาในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร และการขยายสัมปทานอีก 27 ปี ไปสิ้นสุดปี 2577 ในรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเรื่องนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชนะคดีในศาลปกครองชั้นต้น ตั้งแต่ปี 2558 แล้ว แต่ภาครัฐอุทธรณ์ จึงต้องสู้ต่อในชั้นศาลปกครองสูงสุด ผ่านมา 6 ปี คดียังไร้ความคืบหน้า

ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่รอจ่อคิวขอต่ออายุสัมปทาน 30 ปี แลกล้างหนี้ กทม. กว่าแสนล้าน เมื่อยังไม่ต่อสัญญาให้ ก็มีการขู่ขึ้นราคาเป็นไม่เกิน 104 บาทตลอดสาย ก่อน กทม.ใส่เกียร์ถอย ชะลอออกไปก่อน ล่าสุดบีทีเอสบุกทวงหนี้กว่า 3 หมื่นล้าน ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นสัญญาณบีบให้รีบต่ออายุสัมปทานที่จะครบกำหนดในปี 2572 ออกไปอีก 30 ปีหรือไม่

ความหวังที่คนไทยจะจ่ายค่าบริการทางด่วยราคาถูก ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในราคาไม่เกินร้อยละ 10 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คงเป็นไปได้ยาก หากภาครัฐยังมีแนวคิด กลัวค่าโง่ ก็ต่ออายุสัมปทาน คิดล้างหนี้ก็ขยายสัมปทาน วิน-วิน สำหรับรัฐบาลกับเอกชน แต่ประชาชนแบกรับค่าเดินทางหลังแอ่น

ถ้ามีการทำสัญญาที่รัดกุม ไม่ให้รัฐเสียเปรียบ รัฐบาลมีการบริหารจัดการที่ดี ไม่ให้เกิดโครงการซ้ำซ้อนจนเป็นเหตุให้เกิดการขู่ว่าจะมีการฟ้องผิดสัญญา คงไม่เกิดข้ออ้างสารพัดมาต่ออายุสัมปทาน ตอนหน้า คอลัมน์หมายเลข 7 ชวนถอดบทเรียนสารพัดคดีค่าโง่ เริ่มจากอะไร ควรจบแบบไหนติดตามได้ วันพรุ่งนี้ (9 เม.ย.)

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark