ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

จากคดีบอส สู่คดีฆาตกรรมน้องชมพู่ ใช้ กมธ.กฎหมายฯ สภาเป็นเครื่องมือ?

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ไปติดตามคดีฆาตกรรมน้องชมพู่ หลังลุงพลพร้อมทนายไปร้องกรรมาธิการกฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบการทำงานตำรวจ ทั้ง ๆ ที่คดีเพิ่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม งานนี้นักวิชาการทางกฎหมายจึงออกมาแสดงความคิดเห็นกันไม่น้อย ขอกรรมาธิการฯอย่าก้าวล่วง เพราะไม่ใช่หน้าที่ และอาจเกิดผลเสียเกิดขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับคดีบอส อยู่วิทยา ติดตามรายงานจากคุณรัตนกรณ์ โต๊ะหมัด

แม้แต่ นายกรัฐมนตรี ยังต้องลุกขึ้นถามกลางสภาระหว่างชี้แจง พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ถึงกรณี นายไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล ผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมน้องชมพู่ ใช้ใต้ถุนสภาแถลงต่อสู้คดี

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หวนนึกไปถึงคดีบอส อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต จำเลยมีการขอความเป็นธรรมไม่จบไม่สิ้น กว่า 10 ครั้ง หวังผลเปลี่ยนคำสั่ง ชี้ขาดคดีจากสั่งฟ้องเป็นไม่ฟ้อง ผ่านคณะกรรมาธิการกฎหมาย สนช. จนเกิดการเปลี่ยนรูปคดี สร้างความสั่นสะเทือนทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและกระบวนการยุติธรรมตั้งต้น

คดีฆาตกรรมน้องชมพู่ จึงกำลังถูกมองว่าทนายพยายามจะใช้เกมเดียวกันหรือไม่ โดยเฉพาะการเรียกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดี มาชี้แจง กมธ.กฎหมาย อาจกลายเป็นเครื่องมือเปิดหลักฐานสำคัญในคดี ซึ่งมีเสียงท้วงติงจาก พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กลัวว่าจะกลายเป็นการล้วงตับตำรวจผ่านกรรมาธิการฯ เช่นเดียวกับมุมมองของนักกฎหมายเห็นว่า เป็นการก้าวล่วงอำนาจฝ่ายตุลาการ

ด้าน นายสิระ ยืนยัน กมธ.กฎหมายฯ มีหน้าที่ในการหาข้อเท็จจริง มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบการทำงานตำรวจ ไม่กังวลที่ถูกนายกฯ ฉุนกลางสภา

ขณะที่ฝ่ายตำรวจไม่กังวลแม้จะถูกเรียกตัวไปสอบถามการทำงาน เพราะหลักฐานทุกชิ้นในการทำคดีมาจากข้อเท็จจริง

คดีฆาตกรรมน้องชมพู่ แค่เริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตำรวจก็ถูกกล่าวหาว่าทำงานไม่เป็นธรรมแล้ว เรื่องนี้ต้องตามกันอีกยาว และต้องจับตา กมธ.กฎหมายฯ ว่าจะเข้าไปแทรกแซงการทำงานของตำรวจ จนประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิมแบบคดีบอส อยู่วิทยา หรือไม่

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark