ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : พิษโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจไทย คนแห่เข้าโรงรับจำนำ

ข่าวภาคค่ำ - ความเดือดร้อนของประชาชนจากพิษเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 บางคนลำบากถึงขั้นต้องนำทรัพย์เก่าเข้าโรงรับจำนำ ทรัพย์สินบางอย่างมีคุณค่าทางจิตใจ แต่ก็ต้องกัดฟันจำยอมเพื่อให้ชีวิตได้เดินต่อ คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ จะพาทุกคนไปดูขั้นตอนการดูแลทรัพย์ของโรงรับจำนำ ไม่ให้ทรัพย์ที่นำไปใช้บริการเสียหาย หรือถูกทุจริต ติดตามจากคุณรัตนกรณ์ โต๊ะหมัด

ยุคโควิด-19 ที่ไม่รู้ว่าการระบาดจะจบลงเมื่อไหร่ ความลำบากแผ่ซ่านไปทุกหย่อมหญ้า ประชาชนจำนวนไม่น้อยกัดฟันหยิบทรัพย์สินเก่ามาใช้ เศรษฐกิจชะงัก การทำมาค้าขายยากลำบาก ผู้คนตกงาน หนทางสุดท้ายก้มหน้าเข้าโรงรับจำนำเปลี่ยนทรัพย์เป็นเงินจุนเจือชีวิต

วันนี้คอลัมน์หมายเลข 7 จะพาทุกคนไปรู้จักโรงรับจำนำ คุณผู้ชมรู้หรือไม่ โรงรับจำนำที่เราเห็นในปัจจุบัน มีการดูแลหลัก ๆ อยู่ 3 หน่วยงาน ไม่นับรวมเอกชน คือ สำนักงานธนานุเคราะห์ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีทั้งหมด 40 สาขา สถานุบาล สังกัดกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมด 21 สาขา ธนานุบาล สังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

ทรัพย์ที่เรานำไปจำนำ ราคาประเมินจะถูกกำหนดไว้ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ของราคากลางทรัพย์นั้น ๆ ยกเว้น ทองคำ ทองรูปพรรณ เพชร พลอย ที่จะมีราคากลางอยู่แล้ว

ปัจจุบันจึงเห็นได้ว่าประชาชนมักนำของแปลกที่มีคุณค่าทางจิตใจมาจำนำ บางครั้งด้วยความเห็นใจ เจ้าหน้าที่ควักเนื้อช่วยต่อลมหายใจ

หลายคนมีคำถาม ทรัพย์ที่นำมาจำนอง ถูกเก็บไว้อย่างไร และปลอดภัยหรือไม่ คอลัมน์หมายเลข 7 ลงไปดูวิธีเก็บทรัพย์ของสถานธนานุบาล พบว่ามีการทำงานอย่างเป็นระบบและรัดกุม ยากที่จะมีการทุจริต สับเปลี่ยนทรัพย์ได้

เช่นเดียวกับสำนักงานธนานุเคราะห์ ขั้นตอนการเก็บทรัพย์ จะมีพนักงานรักษาทรัพย์ ตรวจสอบทรัพย์ และชั่งน้ำหนัก หลังจากนั้นจะมีการนำเข้าบรรจุภายในซอง โดยจะมีคิวอาร์โค้ดติดไว้ที่ทรัพย์ เป็นตั๋วจำนำฉบับย่อ ก่อนจะนำไปจัดเก็บในตู้เซฟ

ส่วนขั้นตอนการประมูลทรัพย์หลุดจำนำ คณะกรรมการสถานธนานุบาล จะประเมินราคาขายขั้นต่ำ และนำออกมาจำหน่ายวันเสาร์หรืออาทิตย์ เช่นเดียวกับสำนักงานธนานุเคาระห์ เมื่อทรัพย์หลุดจำนำ จะมีการนำทรัพย์ทั้ง 40 สาขา มาไว้ที่ส่วนกลาง ก่อนจัดการประมูลโดยการแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ แต่เนื่องจากมีสถานการณ์โควิด-19 จึงจัดให้มีการประมูลออนไลน์แทน

วันนี้แม้โรงรับจำนำของรัฐทั้ง 3 หน่วยงาน จะงัดมาตรการต่าง ๆ มาดูแลทรัพย์ แต่ใช่ว่าในอดีตจะไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น คอลัมน์หมายเลข 7 จะพาทุกคนไปถอดบทเรียนสํานักงานธนานุเคราะห์ ที่ผู้จัดการและผู้ช่วยผู้จัดการสาขา ร่วมทุจริตประเมินราคาทรัพย์สูงเกินกำหนด จนเกิดความเสียหายมากถึง 28 ล้านบาท และถูกพิพากษาจำคุกมากกว่า 4,000 ปี ตามต่อวันพรุ่งนี้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark