ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : ถอดบทเรียนทุจริตโรงรับจำนำสำนักงานธนานุเคราะห์

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ตามต่อกับทรัพย์สินของโรงรับจำนำ ในสังกัดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตอย่างไร เคยมีการกระทำผิดแบบไหน จะถอดบทเรียนไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอย่างไร ไปติดตามกับคุณรัตนกรณ์ โต๊ะหมัด

เมื่อไม่นานมานี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคกลาง พิพากษาจำคุก 4,930 ปี นายพธรพล หรือ ชลอ พูลทรัพย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้จัดการสถานธนานุเคราะห์ 27 นายชัยรัตน์ นฤชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ คุก 262 ปี 787 เดือน หลังร่วมกันประเมินราคาทรัพย์ที่รับจำนำไว้เกินกว่าร้อยละ 60 เมื่อปี 2549

พฤติการณ์ทุจริตเกิดจากการฮั้วกันของผู้จัดการและผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานธนานุเคราะห์ หรือ สธค. สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งตามระบบ 2 ส่วนงานนี้ ควรถ่วงดุลย์ซึ่งกันและกัน แต่เมื่อผลประโยชน์บังตา ก็กลายเป็นสมรู้ร่วมคิด แสวงหาประโยชน์จากทรัพย์ที่รับจำนำ ประเมินสูง ขายไม่ออก ทำ สธค.ประสบปัญหาขาดทุนสูงถึง 28 ล้าน ภายในเวลาเพียงแค่ 2 ปี การรื้อแผนบริหารใหม่เพื่อปิดช่องโหว่จึงเกิดขึ้น

บทเรียนในอดีต การตรวจทรัพย์ที่ให้ราคาสูงเกินประเมิน วิธีแก้จึงต้องตีให้ตรงจุด สธค. กระจายอำนาจให้ผู้เชี่ยวชาญการตรวจคุณภาพทรัพย์โดยเฉพาะ มาปิดตายช่องโหว่

การตรวจสอบป้องกันการทุจริต สำนักงานธนานุเคราะห์ แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน
- การตรวจสอบตามรอบปกติ จะมีการตรวจทุกเดือน จากผู้เชี่ยวชาญธุรกิจจำนำ โดยจะแจ้งล่วงหน้า
- การตรวจสอบภายใน การลงทะเบียน บัญชี เกี่ยวกับทรัพย์ สามารถกระทำได้ตลอดเวลา
- การตรวจสอบประจำปี ทุกสาขาจะถูกตรวจสอบทั้งหมด โดยจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานในการตรวจเป็นการเฉพาะ และจะให้ผู้จัดการต่างสาขาไปร่วมตรวจด้วย
- การตรวจสอบแบบเซอรไพรส์เช็ก เมื่อมีข้อพิรุธ หรือสงสัย ผู้เชี่ยวชาญจะเข้าตรวจสอบเข้าทันที โดยไม่ให้รู้ตัว

จุดแข็งที่ สธค. มั่นใจว่าจะไม่มีการโกงเล็ดลอดไปได้อีก คือระบบ Data Link ที่เขียนมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ทุกการจำนำ ทุกรายชื่อของทรัพย์ ทุกราคาประเมิน จะวิ่งตรงเข้าสู่ส่วนกลางแบบเรียลไทม์ ระบบมีเกณฑ์กำหนดราคาประเมินของทรัพย์ เมื่อไหร่ที่ราคาประเมินผิดปกติ มีชื่อเจ้าของทรัพย์เกิน 10 ครั้ง ระบบจะแจ้งเตือนพร้อมข้อมูลจะถูกส่งไปให้ผู้เชียวชาญตรวจสอบทันที

จากสถิติพบว่าจังหวัดที่มีการนำทรัพย์ไปจำนำมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร

ปัจจุบันการทุจริตที่ สธค. ตรวจพบ มักมาจากผู้ใช้บริการ และทรัพย์ที่นำมาย้อมแม้ว คือ ทองรูปพรรณ ความเชี่ยวชาญของผู้ประเมินทรัพย์ จึงน้อยมากที่ทองปลอมจะหลุดผ่านสายตาไปได้ หรือต่ำกว่าร้อยละ 10 ของทองคำที่นำมาจำนำ หากตรวจพบว่าเป็นของปลอม ผู้จัดการสาขาจะถูกตรวจสอบและรับผิดชอบค่าเสียหาย ส่วนผู้ที่นำทรัพย์มาจำนองจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark