ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

เจฟฟ์ เบซอส เจ้าพ่อแอมะซอน ขึ้นจรวดท่องอวกาศครั้งแรก

เช้านี้ที่หมอชิต - เจฟฟ์ เบซอส มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ผู้ก่อตั้งบริษัท แอมะซอน เตรียมขึ้นจรวดท่องอวกาศครั้งแรก พร้อมกับน้องชาย ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2564

มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งบริษัทแอมะซอน เตรียมท่องอวกาศครั้งแรก ขึ้นไปกับจรวดนิว เชพเพิร์ด (New Shepard) ที่สร้างโดยบริษัทบลู ออริจิน (Blue Origin) ในวันที่ 20 กรกฎาคม ตามเวลาในสหรัฐฯ เพียงไม่ถึงสัปดาห์ หลังจากเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน นักธุรกิจมหาเศรษฐีชาวอังกฤษ และผู้ก่อตั้งบริษัทเวอร์จิน กาแลกติก (Virgin Galactic)

ได้ประเดิมเดินทางโดยเครื่องบินจรวด VSS Unity ของเอกชนขึ้นไปท่องอวกาศ แตะขอบอวกาศที่ระดับความสูง 85 กิโลเมตร เหนือพื้นโลก และถือเป็นเที่ยวบินแรกในประวัติศาสตร์ และกลับสู่โลกอย่างปลอดภัยเมื่อ 11 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่น

เจฟฟ์ เบซอส จะขึ้นไปกับจรวดนิว เชพเพิร์ด ของบลู ออริจิน ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง พร้อมกับน้องชาย มาร์ก เบซอส รวมทั้ง นางวอลลีย์ ฟังก์ อดีตนักบินอวกาศหญิงรุ่นบุกเบิก อายุ 82 ปี ซึ่งได้รับเชิญจากเบซอสให้มาร่วมทริปท่องอวกาศครั้งนี้ในฐานะแขกกิตติมศักดิ์

และโอลิเวอร์ แดเมน หนุ่มอายุ 18 ปี บุตรชายของโจส์ แดเมน ซีอีโอของบริษัทซัมเมอร์เซ็ต แคปิตอล พาร์ทเนอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุน ขึ้นไปท่องอวกาศพร้อมกับเขา จนทำให้ โอลิเวอร์ แดเมน เป็นผู้อายุน้อยที่สุดในทริปนี้

ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ผมใฝ่ฝันที่จะท่องอวกาศ และในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ผมจะเดินทางไปท่องอวกาศ ผจญภัยครั้งใหญ่พร้อมกับน้องชายของผม เพื่อนที่ดีที่สุด เบซอส เขียนข้อความทางทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน

สำหรับจรวดนิว เชพเพิร์ด ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทบลู ออริจิน ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของเบซอส จะถูกปล่อยจากฐานปล่อยจรวดกลางทะเลทราย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเอล ปาโซ รัฐเทกซัส ในวันที่ 20 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่น

จรวดนิว เชพเพิร์ด ประกอบด้วยสองส่วนหลัก คือ จรวด และแคปซูล ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทบลู ออริจิน โดยจรวดจะทะยานขึ้นในลักษณะ Suborbital flight คือบินขึ้นไปในทางตรง ไม่มีการโคจรรอบโลก และไม่มีนักบินอวกาศ จากนั้นแคปซูลจะดีดตัวออกจากจรวด เมื่อขึ้นไปถึงระดับความสูง 100 กิโลเมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนจรวดจะกลับมาลงจอดยังฐานปล่อยที่เทกซัสอีกครั้งเพื่อสามารถกลับมาใช้งานได้อีก

ผู้โดยสาร 4 คนในแคปซูล จะได้เห็นวิวนอกโลกผ่านหน้าต่างบานใหญ่ของแคปซูลเป็นเวลา 3 นาที ก่อนที่แคปซูลจะลดระดับและลงสู่พื้นโลกด้วยร่มชูชีพ ที่บริเวณกลางทะเลทรายในรัฐเทกซัสตามเดิม โดยการเดินทางท่องอวกาศครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 10 นาที

ก่อนหน้านี้ จรวดนิว เชพเพิร์ด ซึ่งถูกพัฒนาโดยบริษัทบลู ออริจิน ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของเบซอส ได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบจรวด นิว เชพเพิร์ด จำนวน 15 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2555

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark