ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : ตรวจแนวรบ สธ. ศูนย์แรกรับ-ส่งต่อ และ รพ.สนาม

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ตีตรงจุดกันต่อ กับการลงพื้นที่ศูนย์แรกรับ-ส่งต่อ และโรงพยาบาลสนาม บรรยากาศการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในวันนี้ จะแตกต่างไปจากวันที่ผู้ป่วยล้นเตียงตึงอย่างไร ติดตามกับคุณญาณิชสา ศิริมูลกุล

ปลายเดือนเมษายน การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ เริ่มลุกลามเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ศูนย์แรกรับ-ส่งต่อ จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการคัดแยกผู้ป่วยระหว่างรอเตียง ชะลอการระบาดสู่ชุมชน

ปลายเดือนมิถุนายน ผู้ติดเชื้อไต่ระดับ จากหลักพันคนต่อวัน พุ่งทะยานสู่หลักหมื่นคนต่อวัน

โรงพยาบาลหลักล้น โรงพยาบาลสนามตึงตัว บุคลากรขาดแคลน ไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ทัน

เดือนกรกฎาคม ต่อเนื่องเดือนสิงหาคม สถานการณ์เตียงทุกประเภทเข้าขั้นวิฤตติดลบ ส่วนเตียงเตียงโรงพยาบาลสนาม แม้ไม่ติดลบ แต่ก็เหลือเตียงว่างเพียงหลักร้อย

ศูนย์แรกรับและส่งต่อ จำเป็นต้องยกระดับเป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราว แม้บุคลากรจะทำหน้าที่สุดความสามารถ แต่ด้วยข้อจำกัดที่เกินกำลัง ทำให้ไม่สามารถยื้อชีวิตผู้ป่วยบางรายไว้ได้

มาตรการล็อกดาวน์จึงถูกนำมาใช้ ควบคู่กับการปรับแผนรักษาแบบ Home Isolation สำหรับผู้ป่วยสีเขียว ผ่านไป 1 เดือน เริ่มเห็นผล ผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง

สถานการณ์เตียงเริ่มคลี่คลาย กระทรวงสาธารณสุขจึงเตรียมปิดศูนย์แรกรับ-ส่งต่อ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเตรียมไปเปิดศูนย์แรกรับแห่งใหม่ที่โรงพยาบาลเลิดสิน เพื่อปรับปรุงระบบและเตรียมรับมือกับการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา บุคคลากรที่นี่ต้องทำงานอย่างหนัก เพราะต้องยกระดับจากโรงพยาบาลที่แลผู้ป่วยสีเขียว มาดูแลผู้ป่วยสีเหลือง บุคคลากรประมาณ 70 คน ต่อทำงานต่อเนื่องเวรละ 24 ชั่วโมง

แต่หลังจากจำนวนผู้ป่วยลดลง ทำให้บรรยากาศในโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ผ่อนคลายขึ้น

แม้สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้น แต่อัตราการฉีดวัคซีนของไทยยังไม่ทั่วถึง และบทเรียนจากการระบาดช่วงที่ผ่านมา ช่วงนี้จึงเป็นโอกาสที่บุคคลากรได้พักผ่อนเติมพลัง เพื่อเตรียมรับมือกับการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ความไม่ประมาท นำข้อผิดพลาดมาเป็นบทเรียนเพื่อวางแผนรับมือ เป็นกลยุทธ์สำคัญในการฝ่าวิกฤตทุกสถานการณ์

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark