ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : ถอดบทเรียนเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ก่อนกู้ใหม่ ต้องใช้ให้คุ้มค่า

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ชวนท่านผู้ชมร่วมกันตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องกู้ให้จบภายในเดือนนี้ คืบหน้าไปอย่างไร จะขยับเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% กระทบต่อชีวิตคนไทยอย่างไร ติดตามกับคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร

หลายคนอาจไม่ทราบว่าสิ้นเดือนนี้คือเส้นตายที่รัฐบาลจะต้องกู้เงินให้ครบ 1 ล้านล้านบาท ตามพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน ปีที่แล้ว มีเงื่อนไขกำหนดให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. ต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือ ออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 หากพ้นจากนี้ไปก็จะไม่สามารถกู้เงินได้ โดยยังเหลือวงเงินอีกราว 3,991 ล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลที่มีการรายงานต่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับฯ พบว่า การใช้เงินในส่วนของแผนงานด้านสาธารณสุข วงเงินอนุมัติ 63,897 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายเพียงแค่ 37,405 ล้านบาท หรือคิดเป็น 58.54% เท่านั้น ส่วนแผนงานช่วยเหลือเยียวยาประชาชน 594,894 ล้านบาท และช่วยเหลือเกษตรกร 113,302 ล้านบาท รวม 708,196 ล้านบาท มีผลเบิกจ่าย 682,696 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างดี คือ 96.40% ส่วนแผนด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงินอนุมัติ 223,914 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 117,386 ล้านบาท หรือคิดเป็นแค่ 52.42% เท่านั้น โดยในภาพรวมมีวงเงินอนุมัติแล้ว 996,008 ล้านบาท จากยอดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 837,488 ล้านบาท หรือคิดเป็น 84.08% ซึ่งในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ ยังเห็นว่า การใช้จ่ายไม่คุ้มค่า และไร้ประสิทธิภาพ

เงินกู้อีกก้อนที่นำมาเสริมทัพสู้โควิด-19 จำนวน 5 แสนล้านบาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถูกวิจารณ์ว่ายังขาดรายละเอียดที่ชัดเจน จนยากต่อการตรวจสอบ จึงมีข้อเสนอให้ถอดบทเรียนจากปัญหาที่เกิดขึ้นในเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้การใช้จ่ายเป็นไปอย่างคุ้มค่า
 
ล่าสุด ครม. มีมติขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70% ส่งผลให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มได้อีกราว 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องไม่ลืมว่า เงินเหล่านี้มีต้นทุน ที่ประชาชนต้องจ่ายทั้งต้นและดอก หากกู้ 1 ล้านล้านบาท เสียดอกเบี้ย 1% ต่อปี จะมีดอกเบี้ยต่อปีราว 1 หมื่นล้านบาท จะกู้ใหม่จึงต้องดูศักยภาพในการหาเงินของภาครัฐด้วย

มีบทวิเคราะห์จากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี เปิดข้อมูลว่าหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งไปอยู่อันดับ 17 ของโลก สาเหตุจากวิกฤตโควิด-19 สถานการณ์จึงเปราะบางที่อาจปะทุได้ตลอดเวลา โดยคาดการณ์ว่าระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93% ในสิ้นปีนี้ จะทำอย่างไร ไม่ให้หนี้ครัวเรือนพุ่ง หนี้สาธารณะท่วมประเทศ เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องเร่งหาคำตอบ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark