ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : วิกฤตซ้อนวิกฤต ที่หาบเร่-แผงลอยต้องเผชิญ

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ตีตรงจุด วันนี้ ตีแผ่ปัญหา "การจัดระเบียบทางเท้า" ที่ดำเนินการกันมาตั้งแต่หลังรัฐประหารในปี 2557 ผ่านมา 7 ปี ชีวิตความเป็นอยู่ของพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย เป็นอย่างไร ระเบียบทางเท้าดีขึ้นแค่ไหน จะได้รู้ครบ จบในช่วงนี้

เริ่มกันที่ชีวิตผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ที่หมดอาชีพจากการจัดระเบียบของภาครัฐ จึงต้องหันไปทำอาชีพอื่น เพื่อดูแลครอบครัว ต้องดิ้นรนกันขนาดไหน ติดตามกับคุณสิริรัตน์ รัตนสิมานนท์

รถเข็นที่เคยใช้ขายลูกชิ้น และรถพ่วงขายเครื่องดื่ม ถูกจอดสนิทอยู่ที่หลังบ้าน ในซอยอินทามระ 11 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันกับเพื่อนบ้าน ส่วนเครื่องมือทำมาหากินถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ภายในบ้านมานานนับปีแล้ว ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19

จากเดิมที่เคยช่วยกันกับสามี หารายได้จากอาชีพนี้มาจุนเจือครอบครัวนานนับสิบปี แต่ชีวิตต้องพลิกผัน เพราะคนออกจากบ้านน้อยลง ลูกค้าลด ทำให้รายได้ไม่เพียงพอ เธอสุขภาพไม่ดี ต้องกลับมาอยู่บ้านดูแลลูกทั้ง 4 คน ที่ยังเล็กและต้องเรียนออนไลน์ ส่วนสามีตัดสินใจไปเป็น รปภ. ได้เงินวันละ 500 บาท มาดูแลทั้ง 6 ชีวิตภายในบ้าน

ชีวิตของคนทำอาชีพหาบเร่แผงลอย ไม่ง่ายในช่วงวิกฤตโควิด-19 ต้องปรับกลยุทธ์ ลดปริมาณวัตถุดิบ เพื่อสู้ต่อ แต่ก็ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะพื้นที่ขายของ ซึ่งถูกจัดระเบียบ

บางคนโชคดีได้ขายในจุดผ่อนผันตามริมถนนและทางเท้า อย่างเช่นแม่ค้าขายลูกชิ้นอายุ 52 ปีคนนี้ ซึ่งมีจุดประจำอยู่บริเวณทางเท้าริมถนนพหลโยธิน 14 เดิมเคยเป็นจุดผ่อนผัน แต่ถูกยกเลิกไปเมื่อ 3 ปีก่อน เพราะมีผู้ค้าน้อย แต่ตอนนี้ก็ยังขายต่อไปได้ เนื่องจากมีทางกว้างขวาง และไม่กระทบต่อผู้ใช้ทางเท้า โดยมีเทศกิจคอยดูแล

ข้อจำกัดอีกอย่าง คือเรื่องช่วงเวลาที่อนุญาตให้ผู้ค้านำของมาขายบนทางเท้า ได้ตั้งแต่ช่วงหลัง 18.00 น. ยิ่งในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ขายของได้ไม่กี่ชั่วโมง ก็ต้องเก็บของกลับบ้านแล้ว

ขณะเดียวกันการยกเลิกจุดผ่อนผัน จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า แล้วจัดหาสถานที่อื่นรองรับ แม้จะสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ขณะเดียวกันก็อาจไม่ตอบโจทย์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ที่มีจุดขายคือ การหาซื้อได้ง่าย ในจุดที่มีคนเดินผ่าน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark