ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : ส่องแผนเปิดประเทศ 1 พ.ย. ทำได้?

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ตีตรงจุด วันนี้ ชวนท่านผู้ชมส่องแผนเปิดประเทศ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ของนายกรัฐมนตรี เป็นไปได้ ทำได้จริงหรือไม่ มีอะไรที่ไทยต้องเตรียมความพร้อม หากเดินหน้าได้จริง เศรษฐกิจไทยจะกระเตื้องขึ้นอย่างไร เราจะปรับแนวคิดจาก "กลัวโรค" เป็น "เผชิญหน้ากับโรค" เพื่อพาเศรษฐกิจฝ่ามรสุมโควิด-19 ได้อย่างไร จะได้รู้ครบ จบในช่วงนี้

ความจริงความคิดเปิดประเทศไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีเคยประกาศจะเปิดประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน นับจากวันที่แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเหลืออีกเพียงแค่ 2 วัน ก็จะครบเส้นตายที่นายกรัฐมนตรีเคยประกาศไว้ ลองย้อนกลับไปฟังคำแถลงในครั้งนั้นกัน

แต่หลังจากแถลงไปเพียงวันเดียว คนในรัฐบาลก็ออกมาแก้ข่าวกันจ้าละหวั่น เช่น นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุ ให้นับวันเริ่มต้น 120 วัน ที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งก็จะไปครบกำหนดชนวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่นายกรัฐมนตรีเพิ่งมีคำประกาศเปิดประเทศรอบใหม่พอดิบพอดี

ตามแผนที่นายกรัฐมนตรีวางไว้ ว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างน้อย 10 ชาติที่มีความเสี่ยงต่ำ เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว จากนั้นในวันที่ 1 ธันวาคม มีคิวเปิดให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ และจะพิจารณาอนุญาตให้สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และสถานบันเทิง เปิดให้บริการได้ ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เหมาะสม เพื่อโกยเงินในช่วงไฮซีซัน ก้าวสู่การเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่

หากย้อนดูการเตรียมพร้อมเปิดประเทศ รัฐบาลเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่หลังคำประกาศรอบแรกของนายกรัฐมนตรี โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์, สมุย พลัสโมเดล และโครงการ 7+7 Phuket Extention เริ่มไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามด้วย 15 กรกฎาคม ที่เกาะสมุย และโครงการส่วนขยายของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 7+7 (กระบี่และพังงา) ที่ผู้เดินทางที่อยู่ภูเก็ตอย่างน้อย 7 คืน จะเดินทางไปยังกระบี่ พังงา เพื่อพักต่ออีก 7 คืนได้โดยไม่ต้องกักตัว และในปัจจุบันภูเก็ตคลายล็อกให้นักท่องเที่ยวดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้แล้ว

ระยะที่ 2 เดิมกำหนดเริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคม นำร่อง 5 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่ แต่ยังขาดความพร้อมทั้งวัคซีน และสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคที่ยังน่าห่วง ทำให้ต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน

ระยะที่ 3 ที่วางไว้ รัฐบาลตั้งใจจะเปิดต่ออีก 21 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ ลำพูน แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย สุโขทัย, ภาคอีสาน อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี, ภาคตะวันตก กาญจนบุรี ราชบุรี, ภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี ตราด, ภาคกลาง พระนครศรีอยุธยา, ภาคใต้ นครศรีธรรมราช ระนอง ตรัง สตูล สงขลา

ระยะที่ 4 จะเริ่มเดือนมกราคมปีหน้า ในการเปิดพื้นที่จังหวัดที่ติดชายแดนเพื่อนบ้านอีก 13 จังหวัด จับคู่ท่องเที่ยวระหว่างกัน หรือที่เรียกว่า Travel Bubble ซึ่งทั้ง 4 ระยะ จะเปิดรับนักท่องเที่ยว รวม 43 จังหวัด

แผนเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายน ของนายกรัฐมนตรี จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เลื่อนจากกำหนดเดิม มาปัดฝุ่น จุดกระแสสร้างความเชื่อมั่นกับสังคมอีกรอบ ซึ่งครั้งนี้ภาคเอกชนหวังว่าจะสื่อสารกับประชาชนให้เกิดความชัดเจน ที่สำคัญมาตรการที่ออกมาต้องไม่สับสน โดยต้องถอดบทเรียนจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ด้วย

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เชื่อว่า หากเดินหน้าได้เต็มระบบตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ เชื่อว่าจะฉุดเศรษฐกิจให้จีดีพีกลับมาเติบโตได้ 1% ขณะเดียวกันยังห่วงปัจจัยเสี่ยง ทั้งเรื่องเงินบาทที่อ่อนรวดเร็ว อาจทำให้ต้นทุนบางอย่างสูงขึ้น น้ำมันราคาแพง สินค้าอุปโภค-บริโภค มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ จึงอยากให้รัฐบาลเตรียมรับมือกับเรื่องเหล่านี้ด้วย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark