ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : ธุรกิจสัมปทานรังนก ระส่ำ หลายพื้นที่ไร้เงาผู้ประมูล

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ จะชวนท่านผู้ชมไปตรวจสอบสัมปทานรังนกทั่วประเทศ สร้างรายได้ให้รัฐและท้องถิ่นอย่างไร มีช่องโหว่ตรงไหนที่ต้องปรับปรุง เหตุใดในหลายพื้นที่ยังไร้เงาผู้ประมูล ติดตามกับคุณ สมจิตต์ นวเครือสุนทร

ธุรกิจสัมปทานรังนก กลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชน หลังเกิดเหตุขโมยรังนกที่เกาะสี่ และเกาะห้า จังหวัดพัทลุง ซึ่งกว่าจะได้ผู้เข้าร่วมประมูลจนได้ผู้สัมปทานรายใหม่ ก็กินเวลาไปถึง 87 วัน มีการเปิดประมูลถึง 9 ครั้ง ก่อนเคาะราคาที่ 400 ล้านบาท ระยะเวลาประมูล 5 ปี แต่ยังไปต่อไม่ได้ เกิดปัญหารังนกไม่สมบูรณ์เหมือนตอนส่งมอบ เพราะมีการเผารมควันไล่นก ขโมยรัง ซึ่งอาจนำไปสู่กรณีเอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากภาครัฐได้

ในประเทศไทยมีการให้สัมปทานรังนก 9 จังหวัด ประกอบด้วย ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง กระบี่ พังงา ตรัง และสตูล โดยพบว่ามีหลายพื้นที่ ที่ยังไม่สามารถให้สัมปทานได้ เนื่องจากไม่มีผู้เข้ายื่นซองประมูล อย่างเช่นที่ เกาะรัง จังหวัดชุมพร เปิดประมูลสัมปทานมาแล้ว 12 ครั้ง แต่ไร้เงาผู้ประมูลมานานสามปีแล้ว จนทำให้คนในพื้นที่กังวลว่าจะเกิดปัญหาการลักลอบขโมยรังนก เหมือนกับที่พัทลุง โดยที่ผ่านมาเกาะรัง เคยประมูลสัมปทานสูงถึงกว่า 800 ล้านบาท แต่หลังหมดสัญญาในปี 2561 เปิดประมูล 12 ครั้ง ก็ยังไม่มีผู้ประกอบการยื่นประมูล จนราคากลางลดลงจาก 800 ล้านบาท เหลือเพียงแค่ 130 ล้านบาทเท่านั้น

ขณะที่ นักวิชาการเชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สนใจประมูล อาจเป็นเพราะเกิดปัญหาเรื่องความไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากความต้องการบริโภครังนกของประเทศจีนลดลง จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สำหรับกฎหมายที่ใช้ในการประมูลสัมปทานคือ พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ.2540 ใช้มานานถึง 24 ปีแล้ว ในมุมของนักวิจัยนกแอ่นกินรัง มองว่าเริ่มล้าหลัง ควรต้องเร่งปรับปรุง โดยแนะนำให้ดูตัวอย่างจากประเทศเวียดนาม

สำหรับรายได้ที่ได้จากการสัมปทาน ถือเป็นรายได้ท้องถิ่น ทั้ง เทศบาล และ อบต. เมื่อไร้คนประมูล ย่อมกระทบต่อรายได้ท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ภาครัฐต้องทำคือการปกป้องผลประโยชน์ชาติ อย่าปล่อยให้มีการฮั้วกันของใคร เพื่อลักลอบขโมยแบบไม่ต้องเสียค่าสัมปทานให้หลวง

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark