ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : เปิดขั้นตอนการขอเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ขั้นตอนการขออุปการะเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม จะต้องทำอย่างไร มีการตรวจสอบอย่างไรบ้าง ตีตรงจุด ไปหาคำตอบมาให้แล้ว

การรับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุไว้ว่า เด็กที่จะรับไปอุปการะต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีอำนาจ และเด็กต้องแสดงตัวตนต่อเจ้าหน้าที่ โดยผู้อุปการะต้องทดลองเลี้ยงเด็กเป็นเวลา 6 เดือน เว้นแต่เด็กเป็นสายเลือดเดียวกันกับผู้รับเลี้ยง เช่น ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา โดยจะมีเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบการเลี้ยงดู พัฒนาการสุขภาพเด็กทุก ๆ 2 เดือน

พร้อมกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุมากกว่าเด็กอย่างน้อย 15 ปี ต้องเป็นคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ต้องเป็นผู้มีรายได้ และอยู่ในฐานะที่จะอุปการะเลี้ยงดูเด็กให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ต้องมีเวลาเอาใจใส่เด็ก ต้องเป็นครอบครัวที่เหมาะสม มีความคิดเห็นที่ดีต่อการรับเลี้ยงเด็ก ผู้อุปการะควรมีคู่สมรสเพื่อให้เด็กมีครอบครัวที่สมบูรณ์ ต้องเป็นผู้ไม่เคยต้องโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

แต่การรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ไม่ได้จบแค่ทางนิตินัยเท่านั้น ทางพฤตินัยสำคัญไม่ต่างกัน เด็กต้องได้รับความอบอุ่นไม่ต่างจากครอบครัว โดยข้อมูลจากปี 2561-2564 มีการจดทะเบียนรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม 8,831 คน เป็นหญิง 4,446 คน ชาย 4,385 คน ส่วนใหญ่เป็นการขออุปการะเด็กในเครือญาติ ร้อยละ 90 ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นการขอเลี้ยงดูจากสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ที่สำคัญการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมจะต้องบอกความจริงกับเด็กเพื่อป้องกันปัญหา โดยเฉพาะสภาพจิตใจของเด็กในอนาคตด้วย

หลายคนอาจมีคำถามว่า การรับเด็กที่ไม่ใช่ลูกแท้ ๆ มาเลี้ยง จะเกิดปัญหาตามมาในอนาคตหรือไม่ ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม รายงานสถิติการคืนเด็กระหว่างปี 2561-2564 พบว่ามีการคืนเด็กทั้งหมด 35 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ส่วนใหญ่เป็นการขอคืนบุตรของพ่อแม่ที่มีความพร้อมในการดูแลบุตร

สำหรับประชาชนที่ประสงค์จะรับเลี้ยงลูกบุญธรรม สามารถยื่นคำขอได้ หากเป็นประชาชนที่มีสำเนาทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถยื่นคำขอได้ที่ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ตึก 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ ชั้น 2 สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี

ส่วนประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด สามารถยื่นคำขอได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark