ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

คนกรุง จนเฉียบพลัน ค่าใช้จ่ายเปิดเทอมพุ่งสูง

เช้านี้ที่หมอชิต - กสศ. เปิดภาระค่าใช้จ่ายการศึกษา รับเปิดเทอม ปรากฏว่าผู้ปกครองในกรุงเทพมหานคร แบกรับค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมที่สูงกว่าเด็กทั่วประเทศถึง 2 เท่า ครอบครัวที่รายได้น้อย และประสบปัญหาโควิด-19 ยังต้องมาเผชิญค่าครองชีพสูง และอ่วมกับค่าใช้จ่ายเปิดเทอมของลูกหลานอีก แทบจะตกอยู่ในสภาวะจนเฉียบพลันเลยก็ว่าได้

ผลสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ล่าสุด ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนกรุงเทพฯ ต้องจ่ายค่าอุปโภคบริโภคต่อครัวเรือนเฉลี่ย 13,738 บาทต่อเดือน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 1.5 เท่า

นายภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปรียบเทียบ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของเด็กนักเรียนในกรุงเทพฯ เฉลี่ย 37,257 บาทต่อคนต่อปี ในจำนวนนี้เป็นค่าเล่าเรียน และค่าธรรมเนียมการศึกษา 26,247 บาท และยังมีค่าเสื้อผ้า และเครื่องแบบนักเรียน ค่าหนังสือ เครื่องเขียน อุปกรณ์ และค่าเดินทาง รวมแล้วค่าใช้จ่ายสูงกว่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่เด็ก ๆ จะมีค่าใช้จ่าย 17,832 บาทต่อคนต่อปี ถึง 2 เท่า

คนกรุงเทพฯ กำลังเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงมาก ทั้งค่าใช้จ่ายครัวเรือน ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา และแม้ว่าจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทางการศึกษาอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะครัวเรือนที่รายได้น้อย คนทำงานหาเช้ากินค่ำ ยิ่งมาเจอปัญหาโควิด-19 ซ้ำเติม ส่งผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตเด็ก และคุณภาพการศึกษาของเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่ ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน ไซต์ก่อสร้างและริมทางรถไฟ ระบุว่า ภาวะที่ครอบครัวต่าง ๆ ประสบเป็นผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ประเด็นแรก คือ การตกงาน ขาดรายได้ เป็นสภาวะ "จนเฉียบพลัน" ที่เดิมแม้จะมีรายได้น้อย แต่ยังพอประคับประคองชีวิตให้อยู่รอดได้ แต่เมื่อธุรกิจหลายอย่างปิดตัวลง เกิดปัญหาเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง งานรับจ้างรายวัน งานพิเศษที่เคยเป็นช่องทางทำมาหากินก็หายไป ทำให้ไม่มีรายได้เข้าสู่ครอบครัว หลายครอบครัวที่ไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง ต้องนับว่าเป็นภาระที่หนักมากในช่วงเวลานี้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark