ข่าวในหมวด ประเด็นร้อนออนไลน์

หมอพร้อม เผยอาการลองโควิด (Long COVID) กระทบสุขภาพ เช็ก มีอะไรบ้าง?


กรมการแพทย์ เปิดเผยถึงภาวะลองโควิด (Long COVID) หรือผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพจากโรคโควิด ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการติคเชื้อโควิด ตั้งแต่ 3 เดือน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ และมีอาการอยู่นานอย่างน้อย 2 เดือน เกิคขึ้นได้หลายระบบ และอาการที่เกิดขึ้นไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการวินิจฉัยอื่นๆ จากการสำรวจผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิค-19 ของกรมการแพทย์ อาการที่มักพบได้บ่อยมีดังนี้

1.ระบบประสาท พบได้ 27.33% ได้แก่ อ่อนแรงเฉพาะที่เฉียบพลัน ปวดศีรษะ มึนศีรษะ หลงลืม กล้ามเนื้อลีบ
2.ระบบทางจิตใจ พบได้ 32.1% ได้แก่ นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า
3.ระบบหายใจและหลอดเลือด พบได้ 22.86% ได้แก่ เจ็บหน้าอก ใจสั่น
4.ระบบทางเดินหายใจ พบได้ 44.38% ได้แก่ หอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง
5.ระบบผิวหนัง พบได้ 22.8%  ได้แก่ ผมร่วง ผื่นแพ้
6.ระบบทั่วไป พบได้ 23.41% ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ

อาการผิดปกติดังกล่าวส่วนใหญ่หายได้เอง หากผู้ป่วยมีอาการต่อเนื่องนานกว่า 2 เดือนควรพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน



สำหรับ อาการอ่อนเพลีย หลังติดเชื้อโควิด-19 เป็นอาการที่บ่งบอกถึงการลดลงของสมรรถภาพทางร่างกายและ/หรือจิตใจ ปัจจัยเสี่ยงที่พบส่วนมาก ได้แก่ ในผู้ป่วย
-เพศหญิง
-มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง
-มีประวัติโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้า
-มีความรุนแรงในระยะติดเชื้อเฉียบพลันมาก

อาการอ่อนเพลียอาจเกิดร่วมกับอาการเหล่านี้ได้
-มีปัญหาด้านความจำและสมาธิ
-มีอาการเจ็บขณะกลืน
-ต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือรักแร้โต กดเจ็บ
-ออกกำลังกายแล้วเหนื่อยเกิน 1 วัน
-ปวดศีรษะ
-นอนหลับไม่สนิท
-ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
-ปวดตามข้อโดยไม่มีการอักเสบ

หากมีอาการอ่อนเพลียร่วมกับอาการข้างต้นมากกว่า 7 วัน ควรพบแพทย์

คำแนะนำสำหรับอาการอ่อนเพลีย
-เพิ่มกิจกรรมประจำวันทีละน้อยไม่ถึงจุดอ่อนเพลีย
-มีช่วงเวลาพักสม่ำเสมอ
-ถ้ามีอาการอ่อนเพลียหรือล้าให้หยุดพัก

คำแนะนำสำหรับการเริ่มออกกำลังกาย
-ควรเริ่มระดับเบาก่อน
-สังเกตระดับความเหนื่อยหรือชีพจร
-ปรับเพื่อความหนักแบบค่อยเป็นค่อยไป


ทั้งนี้ นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุว่า ปัญหาลองโควิด จะพบมากขึ้น คนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ยังต้องป้องกันตัว เพราะจะติดเชื้อซ้ำได้ และควรประเมินสถานะสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติต่างจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะความเสี่ยงของลองโควิด อาจไม่ได้เกิดแบบปุ๊บปั๊บ แต่เป็นความเสี่ยงระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว แต่ยังมีอาการคงค้างอยู่ ล่าสุดสามารถเข้ารักษาได้แล้วที่คลินิก Long COVID ณ รพ.9 แห่งในกทม. ซึ่งดำเนินการตามแนวทางของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่พ้นระยะเฉียบพลันและยังคงมีอาการผิดปกติในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ครอบคลุมการให้คำปรึกษา การตรวจประเมิน การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือตรวจพิเศษ การวินิจฉัย การดูแลรักษา ติดตามอาการ และการส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (กรณีจำเป็น) ในรูปแบบการให้บริการแบบผู้ป่วยนอก (Onsite และ Online Telemedicine)

รายชื่อคลินิกรักษาลองโควิด Long COVID

1. โรงพยาบาลกลาง ณ คลินิกประกันสุขภาพ ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.
2. โรงพยาบาลตากสิน ณ ARI Clinic ทุกวันจันทร์ เวลา 13.00-16.00 น.
3. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันพุธ เวลา 13.00-16.00 น.
4. โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.
5. โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.
6. โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันอังคาร เวลา 08.00-12.00 น.
7. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ณ ARI Clinic ทุกวันพุธ เวลา 13.00-16.00 น.
8. โรงพยาบาลสิรินธร ณ คลินิกวัณโรค ทุกวันอังคาร เวลา 08.00-12.00 น. และ
9. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ณ คลินิกผู้ป่วยนอก ทุกวันพุธ 13.00-16.00 น.


BUGABOONEWS
ข้อมูลจาก กรมการแพทย์

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark