ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

แพะ กู้วิกฤตเศรษฐกิจชายแดนใต้

เช้านี้ที่หมอชิต - เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เลี้ยงแพะ ปรับเปลี่ยนจากสัตว์เลี้ยงในครัวเรือน เป็นสัตว์เศรษฐกิจมากขึ้น แม้บางส่วนเป็นการนำแพะจากที่อื่นมาขุน เพื่อเตรียมจำหน่ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ติดตามจากคุณอรรถพล ดวงจินดา

ฟาร์มแพะที่มีเพิ่มขึ้นมากขึ้น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในห้วง 2 ปี กับวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา กลายเป็นทางเลือกทางรอดให้กับเกษตรกร ที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของฟาร์ม ที่เริ่มจากขนาดย่อมตั้งแต่ 5-20 ตัว ไปถึงแพะเนื้อและแพะนมถึง 400 ตัว

อย่าง "การิมฟาร์มแพะ" ในจังหวัดยะลา ที่เลี้ยงแพะมานานเกือบ 20 ปี เล่าว่า แพะเหล่านี้ ช่วยชีวิตเกษตรกร จากเดิมที่เป็นสัตว์เลี้ยงในครัวเรือน จนปัจจุบันกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ที่มีความต้องการด้านตลาดสูง เพราะเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิถีวัฒนธรรมทางศาสนาอิสลามของคนในพื้นที่ ที่จะมีลูกค้าเข้ามาซื้อถึงในฟาร์มทุกวัน

แม้ว่าแพะที่อยู่ในฟาร์มจะเป็นแพะที่เลี้ยงมาจากที่อื่น แล้วนำมาขุนต่อ ซึ่งเป็นการขายยกตัว ตั้งแต่ขนาด 10-25 กิโลกรัม หากคิดราคาเนื้อแพะ ตกกิโลกรัม 185-190 บาท ก็ตกเฉลี่ยที่ 3,000-5,000 บาทต่อตัว ขณะที่การเลี้ยงแพะ 1 ปี จะเกิดลูกถึง 2 ครั้ง ถ้าพันธุ์ดี ๆ จะคลอดครั้งละ 2 ตัว แต่ทว่าแพะที่มีก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ

การซื้อ-ขายแพะ ในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นการนำไปประกอบอาหาร เพื่อพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาลนาอิสลาม

ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กลุ่มสารสนเทศและข้อมูลสถิติ กรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พบว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะถึง 33,797 ราย มีแพะ 170,949 ตัว

โดยภาครัฐตั้งเป้าการสร้างมูลค่าการซื้อขายแพะของไทยให้ได้ราว 900,000 ล้านบาท และให้เกษตรกรได้รับองค์ความรู้กว่า 5,000 ราย เพราะปัจจุบันถือว่าแพะยังขยายตลาดได้ หลังความสัมพันธ์ที่ดีของไทยกับประเทศแถบโลกมุสลิม ซึ่งมีความต้องการอาหารฮาลาน หากมีการชำแหละ และแปรสภาพแพะให้ได้ตามมาตรฐานฮาลาลสากล จะยิ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่จะสร้างเม็ดเงินให้จังหวัดชายแดนใต้อีกมาก

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark