ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : สุ่มตรวจสาร THC ในเครื่องดื่มกัญชา

เจาะประเด็นข่าว 7HD - หลังการปลดล็อกกัญชา กัญชง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน เราได้เห็นภาพการเปิดขายทุกส่วนของกัญชา ไม่ว่าจะเป็น ดอก ใบ ลำต้น ราก ที่มีการเปิดขายอย่างเสรี รวมไปถึงร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ก็มีผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของกัญชาวางจำหน่าย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าปริมาณสาร THC ที่มีผลต่อระบบประสาท เกินกว่าที่กำหนดหรือไม่ วันนี้ตีตรงจุดไปสุ่มตัวอย่างมาทดสอบให้แล้ว

แต่ก่อนจะไปดูการทดลอง เรามาทำความเข้าใจความแตกต่างของกัญชากับกัญชงกันก่อน เมื่อก่อนเราจะแยกกัญชากับกัญชงออกจากกันด้วยขนาดของใบ ถ้าต้นไหนมีใบขนาดเล็กเรียว 7-11 แฉก ใบมีสีเขียวอ่อนจะเป็นกัญชง ส่วนต้นที่มีใบใหญ่ 5-7 แฉก สีเขียวเข้มจะเป็นกัญชา แต่ปัจจุบันแยกยากมาก เพราะมีการดัดแปลงพันธุกรรม ทำให้กัญชาก็มีใบขนาดเล็กเช่นกัน ดังนั้นใครที่ไปหาซื้อต้องศึกษาให้ดี ในด้านสรรพคุณกัญชา กัญชง ต่างกันตรงที่สาร THC ซึ่งมีฤทธิ์เสพติดหรือมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ในกัญชามีเยอะมาก ส่วนกัญชงจะมีสาร CBD เป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านอาการเมาเคลิ้ม อาการทางจิตของ THC ช่วยในเรื่องของการชักแกร็ง แต่ไม่มีฤทธิ์เสพติด

การทดลองวันนี้ เราเลือกมา 4 อย่าง คือดอกกัญชาสดอัดแห้งที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาด 2 ตัวอย่าง และเครื่องดื่มที่มีการนำกัญชาไปผสมอีก 2 ตัวอย่าง โดยได้รับความร่วมมือจาก อาจารย์อ๊อด หรือ รองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำรถโมบายที่สร้างขึ้นเพื่อตรวจหาสาร THC มาทดสอบ ทดสอบด้วยเทคนิค HPLC ซึ่งเป็นเครื่องมือมาตรฐานในการตรวจตามกฏกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ใช้เวลาทดสอบตัวอย่างละ 30 นาที ผลปรากฏว่า ดอกกัญชาซองสีเขียวที่ทางร้านให้สรรพคุณว่าเหมาะแก่การใช้สูบในเวลากลางวัน มีค่า THC 20 เปอร์เซ็นต์ จากสารในดอกจำนวน 0.1 กรัม อีกตัวซองสีม่วงร้านแนะนำว่าเหมาะสำหรับการสูบในเวลากลางคืน ผลตรวจค่า THC จากสารในดอกสูงมากถึง 23 เปอร์เซ็นต์ ขณะน้ำชวดสีเขียวจากร้านสะดวกซื้อพบมี ปริมาณ THC อยู่แค่ 0.001 เปอร์เซ็นต์ ขวดสีขาวมี THC 0.0007 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อรับประทานไปแล้วแทบจะไม่มีผลอะไรกับร่างกาย

เช่นเดียวกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผสมอยู่ในกัญชา 30 ตัวอย่าง ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด พบกว่า 30 เปอร์เซ็นมีค่า THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนักตามประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ซึ่งถือว่าเป็นยาเสพติด ดังนั้นผู้บริโภคควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ผสมกัญชา หรือสารสกัดจากกัญชาเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากกัญชาที่อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว

เช่นเดียวกับ อาจารย์อ๊อด บอกว่า ประชาชนทั่วไปที่ใช้กัญชาอยู่ ณ ตอนนี้จะไม่ทราบเลยว่ามีความเข้มข้นของสาร THC อยู่ในปริมาณเท่าไหร่ จนกว่าจะมีการตรวจวัด จึงฝากไปถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยงว่าหากมีอาการแพ้หรือไม่แน่ใจก็ขอให้งดการรับประทาน หรืออย่าไปลองเลยจะดีกว่า เพราะหากได้รับในปริมาณที่สูงและอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า จิตเภท หลอดเลือดหัวใจ และมะเร็งอัณฑะ

ด้าน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง บอกว่า มีการเข้าถึงแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ "ปลูกกัญ" กว่า 39 ล้านครั้ง และมีผู้จดแจ้งขอปลูกไม่น้อยกว่า 900,000 ราย ทั้งนี้ กมธ.วางหลักการและกรอบการปลูกในครัวเรือนว่าให้ปลูกได้ไม่เกิน 10 ต้นต่อครัวเรือน จึงไม่อยากให้มองแต่ด้านลบของกัญชา เพราะกัญชาไม่ต่างจากบุหรี่ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพียงแต่ต้องมีกฎและระเบียบออกมาควบคุม ไม่ให้เน้นในทางนันทนาการ เพราะที่ปลดล็อกก็เพื่อการแพทย์และเศรษฐกิจ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark