ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ครม.เคาะ มาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชน

เจาะประเด็นข่าว 7HD - วันนี้มี 1 มาตรการเดิม กับ 2 มาตรการใหม่ เพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชน ที่ ครม. ต้องตัดสินใจของเก่าจะขยายเวลาหรือไม่ และของใหม่จะอนุมัติอย่างไร ไปติดตามกัน

ครม.เคาะ มาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชน
เริ่มที่มาตรการเดิมกันก่อน ก็จะมีทั้งการตรึงราคาค่าก๊าซ NGV สำหรับแท๊กซี่ การให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การให้ความช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก และ ลดราคาน้ำมันดีเซลร้อยละ 50 ในส่วนราคาขายสูงกว่า 35 บาทต่อลิตร ซึ่งที่ประชุม ครม. มีมติขยายเวลาออกไปอีก 3 เดือน จนถึงเดือนกันยายน

ส่วนมาตรการใหม่ เป็นเรื่องที่ผู้ใช้น้ำมันลุ้นกันสุดตัว เพราะจะมีผลต่อราคาหน้าปั๊มให้ควักเงินจ่ายน้อยลง เริ่มจากที่รัฐจะขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้คงค่าการตลาดอยู่ที่ 1.4 บาทต่อลิตร ให้โรงกลั่นน้ำมันนำส่งกำไรส่วนต่างทั้งดีเซลและเบนซินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อลดค่าน้ำมันหน้าปั๊มลง 1 บาท ให้โรงแยกก๊าซที่มีต้นทุน LPG ดึงกำไรส่วนเกิน 50 % เข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งเรื่องนี้ครม.มีมติขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมัน นำส่งกำไรส่วนต่างเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อลดภาระราคาค่าน้ำมันให้กับประชาชนทั้งดีเซลและเบนซิน ในช่วง 3 เดือน เริ่มกรกฎาคม - กันยายน

ตามดูรัฐแก้ปัญหาราคาน้ำมัน เกาไม่ถูกที่คัน?
สุดท้ายจะได้ข้อยุติตามที่ ครม. มีมติออกมาหรือไม่ ยังต้องติดตาม เพราะฝ่ายธุรกิจโรงกลั่น แม้จะบอกพร้อมร่วมมือ แต่ก็ขู่กลาย ๆ ให้ไปดูกฎหมายให้ดีทำได้หรือเปล่า พร้อมชี้แจง ค่าการกลั่นไม่ใช่กำไรของโรงกลั่น เนื่องจากยังมีค่าใช้จ่ายหลายอย่างที่ต้องหักออกก่อน และระบุว่า ค่าการกลั่นเฉลี่ยตั้งแต่เกิดโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19

ซึ่งเรื่องนี้มีข้อเสนอจากนักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน ว่า ควรปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ ยกเลิกสูตรสมมตินำเข้าก๊าซและน้ำมันที่ไม่มีจริง เพราะในปัจจุบันเรายังอิงราคาสิงคโปร์ ทั้งที่กลั่นน้ำมันในประเทศ ซึ่งหากทำได้จะช่วยลดราคาน้ำมันได้ถึง 7 บาทต่อลิตร

ขณะที่ข้อเสนอของพรรคกล้า ที่ขอให้ กระทรวงพาณิชย์ ใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เข้ามากำกับดูแลค่าการ กลั่นน้ำมันเพื่อช่วยให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลง ก็ถูกปฏิเสธจาก นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์แล้ว โดยให้เหตุผลว่า เรื่องพลังงานมีกฎหมายบังคับใช้เป็นการเฉพาะและกระทรวงพลังงานดูแลอยู่แล้ว 

ด้าน พรรคกล้า โพสต์ทวิตเตอร์โต้ทันควัน โดยนำเอาองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมเป็นกรรมการด้วย มาเผยแพร่ พร้อมเนื้อหาใน พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน มีการกำหนดสินค้าควบคุมไว้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ก๊าซปิโครเลียมเหลว และน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมตั้งคำถาม "ถ้าไม่ใช่ รมว.กระทรวงพาณิชย์ แล้วจะเป็นใคร อำนาจอะไรที่ไม่เคยได้ใช้ ไม่ได้แปลว่าไม่มีอยู่จริง ขอให้กลับมารับผิดชอบหน้าที่ หาทางร่วมกับ กพช. กำหนดเพดานค่าการกลั่น ให้อยู่ในอัตรากำไรที่เหมาะสม"

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark