ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : จุดเปลี่ยนสัมปทานรังนก ความตกต่ำของธุรกิจ?

ข่าวภาคค่ำ - เกาะติดต่อเนื่องกับปมสัมปทานรังนกนางแอ่น จังหวัดชุมพร ร้างสัมปทาน เพราะมีใครละเลยในการปฏิบัติหน้าที่จริงหรือไม่ หรือธุรกิจกำลังถึงจุดเปลี่ยน ติดตามในคอลัมน์หมายเลข 7 กับคุณมะลิ แซ่ฉิ่น

4 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่น จังหวัดชุมพร ได้ประกาศให้ยกเลิกสัมปทานรังนกอีแอ่น ของบริษัท บลูเพิร์ล เบิร์ดเนส จำกัด วงเงินสัมปทาน 65,458,000 บาท ที่ได้รับสัมปทานเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ถึง 24 ตุลาคม 2565 กินพื้นที่ 3 เกาะ ประกอบด้วย เกาะมะพร้าว เกาะกา และเกาะลังกาจิว หลังพบว่าตลอดระยะเวลาสัมปทาน ซึ่งบริษัทจะต้องชำระค่าอากรเป็นรายงวด ปีละ 3 ครั้ง แต่ปรากฏว่ามีการชำระเพียงครั้งแรก หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันไม่มีการชำระอีกเลย เป็นวงเงินกว่า 54 ล้านบาท ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนถึงผลสำรวจภายในถ้ำว่าสภาพเป็นอย่างไร เกิดคำถามทำแค่แก้เกี้ยว หรือตั้งใจแก้ปัญหา ท่ามกลางกระแสข่าวการเอื้อประโยชน์ระหว่างท้องถิ่นกับบริษัทสัมปทาน เนื่องจากมีความสัมพันธ์ฉันเครือญาติใช่หรือไม่ เพราะพบว่ามีการใช้วิธีการขยายระยะเวลาชำระอากร รวมถึงเงินเพิ่มที่ไม่มีในข้อสัญญาให้อำนาจ เพื่อให้ผู้รับสัมปทานเข้าเก็บรังนก โดยไม่ต้องชำระอากร

สถานการณ์ของ 3 เกาะแรก เป็นคำถามผลประโยชน์ทับซ้อน จนผลประโยชน์ส่วนรวมเสียหายหรือไม่ แต่ยังมีอีกหลายเกาะที่ประสบปัญหา ไร้บริษัทเข้าประมูลสัมปทาน ทั้งเกาะยุ้ง และเกาะมัดหวาย ในพื้นที่เทศบาลตำบลด่านสวี ซึ่งไม่มีตัวแทนบริษัทใดเข้ายื่นซองประมูลในครั้งที่ 12 ไม่แตกต่างจากเทศบาลตำบลปากคลอง ซึ่งดูแลเกาะซิกง และเกาะรัง ก็ไม่มีใครมายื่นซองประมูลเช่นกันในครั้งที่ 17 ทำให้ท้องถิ่นแทบไม่มีเงินงบประมาณในการพัฒนาเป็นเวลา 3 ปีกว่าแล้ว หลังจากผู้ได้รับสัมปทานรอบสุดท้ายหมดสัญญาลง

ระหว่างที่ไม่สามารถหาผู้สัมปทานได้ มีคำถามถึงผู้บริหารจังหวัด เก็บรังนกเองก่อนได้หรือไม่

9 จังหวัดที่เคยมีรังนกเป็นขุมทรัพย์ ประสบปัญหาเดียวกัน คือ เปิดประมูลแต่ไร้เงาเอกชนเข้าประมูล เพราะหวั่นปัญหาเรื่องความคุ้มทุน เนื่องจากตลาดเปลี่ยน จีนซึ่งเป็นประเทศนำเข้าเป็นอันดับ 1 ปรับเปลี่ยนกติกา มีรังนกบ้านเข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญ ราคาถูกกว่า ทำให้ธุรกิจรังนกถ้ำได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ในประเทศไทยรังนกบ้าน แม้จะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ยังขาดกติกาชัดเจน ในการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนกับบ้านรังนก โจทย์ของผู้มีอำนาจจึงไม่ได้มีแค่ทำอย่างไรให้การสัมปทานประสบความสำเร็จ ยังต้องเร่งออกกติกาให้รังนกบ้าน ไม่รังควานชุมชนด้วย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark