ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

แจงกระแสวิจารณ์ออกหมายจับ คนค้างชำระใบสั่ง เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน

เช้านี้ที่หมอชิต - หลังตำรวจนครบาลแถลงถึงมาตรการออกหมายจับ คนที่ไม่ยอมไปจ่ายค่าปรับใบสั่งจราจร ไปได้ 2 วัน เมื่อวานนี้ก็ออกมาแถลงชี้แจงเพิ่มเติม ยืนยันว่าเพื่อกระตุ้นเตือนไม่ให้ประชาชนทำผิดกฎจราจร และการออกหมายจับ ก็จะเน้นไปที่ผู้ที่ทำผิดซ้ำจนเป็นนิสัย

ทันทีที่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล แถลงว่าจะใช้มาตรการออกหมายจับ คนที่ไม่ยอมไปจ่ายค่าปรับใบสั่งจราจร เพื่อแก้ปัญหาใบสั่งค้างชำระที่เรื้อรังสะสมมานาน กลายเป็นข่าวออกไปในช่องทางต่าง ๆ ก็เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ออกมามากมาย ส่วนใหญ่ก็ตั้งคำถามว่า ตำรวจสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้จริงหรือไม่ บางคนก็มองว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงเกินความจำเป็น เพราะผู้ที่ถูกออกหมายจับจะมีประวัติกระทำผิดติดตัวไปด้วย บางคนก็ตั้งข้อสังเกตไปถึงขั้นว่าหรือจริง ๆ แล้ว ตำรวจต้องการเพียงเงินค่าปรับเท่านั้น

ขณะที่บางเพจที่เป็นผู้ให้ความรู้ทางกฎหมาย ก็มีการอธิบายว่า การจะออกหมายจับไม่ใช่จะออกกันได้ง่าย ๆ ทุกอย่างมีขั้นมีตอน มีระยะเวลา ไม่ใช่จู่ ๆ ตำรวจจะไปออกหมายจับได้ทันที แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ช่วยให้คนส่วนใหญ่สบายใจขึ้น เพราะยังเห็นไปในทางเดียวกันว่า มาตรการนี้ตำรวจทำเกินกว่าเหตุ ขณะที่บางคนก็ให้ความเห็นเชิงแนะนำ เช่น ควรใช้การพักใบอนุญาต หรือยึดใบขับขี่ เหมือนในประเทศญี่ปุ่นแทนจะดีกว่าการออกหมายจับ

หลังปล่อยให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปได้แค่ 2 วัน เมื่อวานนี้ พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่เป็นผู้แถลงเรื่องมาตรการดังกล่าว ก็ออกมาแถลงชี้แจงเรื่องนี้เพิ่มเติมโดยบอกว่า วัตถุประสงค์ของมาตรการ เพื่อต้องการกระตุ้นให้ประชาชนเคารพกฎจราจร ไม่กระทำผิดกฎหมาย การดำเนินคดีจะเน้นไปที่ผู้กระทำผิดซ้ำจนเป็นนิสัย

ส่วนการออกหมายจับไม่ได้ออกโดยทันที ที่ประชาชนได้รับใบสั่ง แต่จะมีขั้นตอนต่าง ๆ เริ่มจากการออกใบเตือน 1 ครั้ง, ออกหมายเรียก 2 ครั้ง ซึ่งหากเป็นการออกใบสั่งจากตำรวจจราจรที่ไปพบการกระทำผิดกฎจราจรโดยตรง ก็จะมีเวลาให้ 55 วันในการดำเนินการ ส่วนใบสั่งที่เป็นภาพจากกล้องวงจรปิด ก็จะมีเวลาให้ถึง 99 วัน ในการดำเนินการ ก่อนที่ตำรวจจะพิจารณาขอศาลออกหมายจับ อีกทั้งมาตรการนี้ก็ไม่ได้มีแค่กรุงเทพฯ พื้นที่เดียว แต่มีการใช้จริงมาได้ระยะหนึ่งแล้วในหลายจังหวัด และมีผู้ที่ถูกศาลพิพากษาโทษไปแล้วหลายคดี เพียงแต่ไม่ได้เป็นข่าว

สำหรับสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน แต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 คน มากกว่าผู้เสียชีวิตจากเหตุอาชญากรรมอื่น ๆ ที่มีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 4,000 คน ต่อปีเท่านั้น จึงมองว่าแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่หากช่วยลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุได้ ก็ถือเป็นเรื่องคุ้มค่า

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark