ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

รู้เรื่องเมืองไทย Siam Insight : ดอกเบี้ยต้องแรงแค่ไหน ถึงสกัดเงินเฟ้ออยู่หมัด

เจาะประเด็นข่าว 7HD - เมื่ออัตราเงินเฟ้อขยับสูงขึ้น เครื่องมือเครื่องไม้แรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง คงเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดความร้อนแรงของภาวะเงินเฟ้อ แต่จะต้องขึ้นแรง และเร็วแค่ไหน ถึงจะสกัดภาวะเงินเฟ้อได้อยู่หมัด ติดตามจาก รู้เรื่องเมืองไทย Siam Insight วันนี้

เมื่อเราควักกระเป๋า จ่ายค่าสินค้าและบริการชิ้นเดิม ปริมาณเท่าเดิม แต่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น นี่คือ ภาวะเงินเฟ้อ หรืออีกมุมหนึ่ง คือ ค่าเงินที่เราถืออยู่ในมือ มีมูลค่าลดลงนั่นเอง ซึ่งตลอดระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา ไทยยังคงเผชิญภาวะเงินเฟ้อสูงราว 6-7% เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ ระดับเงินเฟ้อเคยอยู่ที่ ไม่เกิน 5% สะท้อนว่า คนไทย ต้องควักกระเป๋าเพิ่ม เพื่อซื้อสินค้าและบริการที่แพงขึ้น

เครื่องมือลดความร้อนแรงของภาวะเงินเฟ้อ คงเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดทอนอำนาจการใช้จ่ายเงินลง ผลพวงคือเศรษฐกิจอาจเติบโตในอัตราที่ชะลอลงเพราะเมื่อดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ภาคธุรกิจย่อมชะลอ หรือลดการลงทุนลงนั่นเอง ขณะที่ภาคครัวเรือนต้องรัดเข็มขัด ลดรายจ่าย รับมือกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ความเสี่ยงคือเหล่าบรรดาลูกหนี้ อาจมีเงินไม่พอชำระหนี้ เพราะดอกเบี้ยสูงขึ้น ภาพการยึดรถ ยึดบ้าน เริ่มชัดเจนขึ้นอีกครั้ง แต่ผลดีคือ เมื่อดอกเบี้ยสูง ก็อาจดึงดูดให้มีเงินไหลเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่า การนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบ จะราคาถูกลง แน่นนอนว่า จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงได้ ด้วย

แม้ระดับเฟ้อของไทย จะเริ่มปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบปี มาอยู่ที่ระดับ 107.41 หรือเพิ่มขึ้น 7.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลมาจากราคาน้ำมันที่เริ่มปรับลดลง แต่ก็ยังถือว่า อัตราเงินเฟ้อ ยังคงอยู่ในระดับสูง ภาคครัวเรือนยังระมัดระวังในการใช้จ่าย กำลังซื้ออาจไม่เพิ่มมากขึ้นเท่าที่ควร คงต้องติดตามการตัดสินใจของคณะกรรมการนโนบายการเงินซึ่งจะเคาะความชัดเจน ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ "รู้เรื่องเมืองไทย สยามอินไซด์ มอง การขึ้นดอกเบี้ย อาจจะช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้เพียงเล็กน้อย แต่สิ่งที่กำลังตามมา มากกว่านั้น เป็นการเพิ่มภาระดอกเบี้ยที่ประชาชนต้องจ่าย ซ้ำเติมภาวะค่าครองชีพสูงในขณะนี้ ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็ว และแรง อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark