ผลการศึกษาชี้ผู้ป่วยโควิด-19 เสี่ยงมีอาการลองโควิด นานถึง 2 ปี
รายการข่าวต่างประเทศ 19 สิงหาคม 2565 - ผลการศึกษาฉบับล่าสุด ที่วิจัยโดยศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ของอังกฤษ บ่งชี้ว่า ผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาโรคโควิด-19 จนหายดีแล้ว ยังคงมีความเสี่ยงที่จะมีอาการลองโควิด เป็นเวลานานถึง 2 ปี
โดยผลการวิจัย บ่งชี้ว่า ผู้ป่วยในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวน 1 ล้านคน จาก 8 ประเทศทั่วโลก จะมีอาการชัก, ฝ้าในสมอง, ภาวะสมองเสื่อม และภาวะสุขภาพจิตอื่น ๆ เป็นเวลานานสูงสุดถึง 2 ปี แม้จะได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว โดยผู้วิจัยยังระบุว่า การค้นพบครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่ควรตื่นตระหนกเพราะมีอัตราส่วน ที่อาจเกิดขึ้นได้เพียง 2 หรือ 3 ตัวอย่างเท่านั้น
ขณะที่ ผู้ป่วยในวัยเด็ก จะมีอาการเป็นลมบ้าหมู หรือ ชัก ไข้สมองอักเสบ และรากประสาทผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย อ่อนแรง หรือ สูญเสียความรู้สึกที่แขนหรือขา นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงเล็กน้อย ที่จะเกิดอาการป่วยทางจิต เช่น โรคจิตเภท หรือ การคิดแบบหลงผิด
ขณะที่ นครเซียะเหมินของจีน สั่งเร่งตรวจหาเชื้อในประชาชนกว่า 5 ล้านคน หลังพบผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มขึ้นราว 40 คน นอกจากนี้ ยังสั่งตรวจหาเชื้อในปลา และสัตว์ทะเลต่าง ๆ ที่ชาวประมงจับมาได้ด้วย
เพื่อสร้างความมั่นใจว่า จะไม่มีช่องทางให้เชื้อโควิด-19 เล็ดลอดเข้ามาได้ ตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ โดยคณะกรรมการการเมืองและกฎหมายของเขตเซียะเหมินจี้เหม่ย ระบุว่า จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อในชาวประมงและปลา ที่จับมาได้ทันทีที่ขึ้นจากเรือ เนื่องจากชาวประมงบางราย ทำการค้าผิดกฎหมาย หรือ ติดต่อกับเรือต่างประเทศขณะอยู่ในทะเล ส่งผลให้อาจมีโอกาสนำโควิด-19 เข้ามาในประเทศได้
นอกจากนี้ ยังสั่งตรวจหาเชื้อในสัตว์ชนิดต่าง ๆ รวมถึง ฮิปโปโปเตมัสอีกด้วย จนกลายเป็นกระแสฮือฮา บนโลกโซเชียลในขณะนี้