ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

เปิดแนวทางปฏิบัติตัวเมื่อโควิด-19 ลดระดับควบคุมโรค

เช้านี้ที่หมอชิต - หลังกระทรวงสาธารณสุข ถอดโควิด-19 ออกจาก "โรคติดต่ออันตราย" ปรับเป็น "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" มีผลวันที่ 1 ตุลาคม ต้องจับตากันว่าแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านมีอะไรบ้าง จะถึงขั้นยกเลิกกักตัวผู้ป่วยอาการน้อย หรือถอดหน้ากากอนามัยหรือไม่ เราไปไล่เรียงให้รู้ชัด เพื่อมีวิธีการรับมือกับโรคนี้ 

ก่อนอื่นเราไปดูมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวานนี้ (21 ก.ย.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งมาตรการน่าจับตา คือ

ปรับการแยกกักผู้ป่วยโควิดอาการน้อย หรือ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน หรือ DMHT คือ เว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด 5 วัน แทนการกักตัวผู้ป่วยโควิด 5 + 5 ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ส่วนผู้ติดเชื้อที่มีอาการไปตรวจรักษาได้ตามสิทธิ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการโรคติดต่อฯ ยังแนะนำให้ป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วย

นอกจากนี้ ยังมีมติยกเลิกแสดงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเอกสารวัคซีน หรือ ผลการตรวจ ATK โรคโควิด-19 สำหรับผู้ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทยด้วย

อีกประเด็นที่ประชาชนอาจยังสงสัย ปัจจุบันจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ และยังฉีดได้ฟรี หรือต้องจ่ายเงินเองเรื่องนี้ กรมควบคุมโรค เผยว่า ตามแผนนำเข้าวัคซีนขณะนี้คือ วัคซีน AstraZeneca จำนวน 35.4 ล้านโดส ใช้งบประมาณกว่า 11,069 ล้านบาท โดยจะยังฉีดให้กับประชาชนทุกกลุ่มฟรี

โดยคำแนะนำสำหรับฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น คือ ผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 2 ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปทุกสูตร ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4, 5 และ 6 ควรมีระยะห่างจากเข็มก่อนหน้าตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ซึ่งรวมถึง ผู้มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 หลังการติดเชื้อเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 5-12 ขวบ ควรรับเข็มกระตุ้น โดยมีระยะห่าง 3 เดือนขึ้นไป

ทั้งนี้ ภาพรวมการฉีดวัคซีนตั้งแต่กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว 28 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงล่าสุด 21 กันยายน 2565 ขยับเพิ่มไปกว่า 142 ล้านโดส โดยวัคซีนเข็ม 3 ฉีดไปแล้วกว่า 31 ล้านคน หรือ 46.1%

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark