ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : 11 จนท.รัฐ ทุจริตฮั้วประมูลเรือของกลางลอบเข้าไทยผิดกฎหมาย

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ เกาะติดการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ 11 คน ถึง 2 ข้อหาหลัก ๆ คือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และเรียกรับทรัพย์ จากคดีตรวจยึดเรือประมงสัญชาติมาเลยเซีย ที่สวมธงชาติอินโดนีเซียลอบเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งคดีนี้ตำรวจยังเตรียมออกหมายจับเจ้าหน้าที่ศุลกากรเพิ่ม ฐานฮั้วประมูลด้วย ติดตามจากรายงานคุณมะลิ แซ่ฉิ่น

ปลายเดือนธันวาคม 2564 ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคการประมง บุกไปตรวจยึดเรือประมง 3 ลำ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา และอีก 2 ลำ ในพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช หลังพบว่าลักลอบนำเรือสัญชาติมาเลเซีย แล้วสวมธงชาติอินโดนีเซีย ลักลอบเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดกฏ IUU จนต่อมา สามารถจับกุมผู้เกี่ยวข้องในเรือได้ 22 คน โดยศาลมีคำสั่งปรับและริบเรือ 3 ลำ วงเงินกว่า 20 ล้านบาท

การดำเนินการสอบสวนช่วงแรกดูเหมือนจะไม่มีความผิดปกติ กระทั่งศุลกากรจังหวัดสงขลา เปิดให้มีการประมูลเรือของกลาง ทั้งที่การดำเนินคดียังไม่แล้วเสร็จ โดยอ้างว่า ไม่มีพื้นที่ในการดูแลรักษา และเสี่ยงต่อเรือจม เนื่องจากมีมรสุม

เหตุผลในครั้งนั้นดูเหมือนจะฟังขึ้น หากเจ้าหน้าที่ไม่พบว่ามีคนที่ประมูลเรือได้ไปในราคาต่ำกว่าความเป็นจริงเกินกว่าครึ่ง และที่เป็นข้อสังเกต คือ คนที่ได้เรือไป ก็เป็นเจ้าของเรือเดิม และที่หนักกว่านั้น คือ มีการนำเรือออกจากท่าในพื้นที่กลับไปยังประเทศมาเลเซีย โดยไม่แจ้งเจ้าท่า ซึ่งกรณีนี้ ถือเป็นความเสี่ยงมากที่จะถูกอียูคาดโทษ เพราะปล่อยให้มีการทำประมงผิดกฏหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

นี่จึงเป็นเหตุให้ตำรวจสั่งออกหมายจับเจ้าหน้าที่ของรัฐ 11 คน ประกอบด้วย ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 6 คน เจ้าท่า 2 คน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอีก 3 คน และกำลังจะออกหมายจับคดีฮั้วประมูลอีกในเร็ว ๆ นี้ โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง

จากการสืบสวนเชิงลึก ยังพบว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในประเด็นของการเรียกรับทรัพย์ มาตรา 149 และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157 จากการดำเนินการในขั้นตอนกระบวนการปล่อยเรือออกนอกราชอาณาจักร หลังการประมูล ซึ่งตามระเบียบที่ถูกต้อง จะต้องมีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ศุลกากร กรมเจ้าท่า ตรวจคนเข้าเมือง และสาธารณสุข เพื่อตรวจสอบในแต่ละจุด แต่กรณีนี้ กลับพบว่ากระบวนการปล่อยเรือ มีการเรียกรับทรัพย์

โดย ชิปปิง ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการแจ้งเรือเข้าออก ให้การว่า ในกระบวนการแจ้งออกมีการจ่ายทรัพย์ให้แก่เจ้าหน้าที่เกินกว่าค่าดำเนินการ ซึ่งเมื่อตรวจสอบย้อนไปตามเส้นทางการเงิน ก็พบว่ามีเงินเข้ามาเกินกว่าจำนวนจริง

นอกจากแจ้งดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มเติม ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคการประมง ก็จะขึ้นทะเบียนเรือทั้งหมดที่ตรวจยึดเป็น เรือไอยูยู นั่นหมายความว่า จะไม่สามารถออกทำประมงได้อีก ในระยะเวลา 5 ปี

มาตรการดำเนินการอย่างจริงจัง และเอาผิดแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ขณะนี้ อียู มีความพึงพอใจ ต่อการมุ่งมั่นแก้ปัญหาของไทย ซึ่งกรณีนี้จะส่งผลดีต่อการประเมิน ไอยูยู ฟิชชิง ที่จะเริ่มขึ้นกลางเดือนหน้า และเมื่อไทยได้การเปลี่ยนสถานะประมง จากธงเหลือง เป็นธงเขียว ก็จะส่งผลดีต่อการทำธุรกิจส่งออกสินค้าภาคประมงของไทยอีกด้วย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark