ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : ถอดบทเรียนสารเคมีรั่วไหล อันตรายที่มีทางแก้ไข

เช้านี้ที่หมอชิต - ตีตรงจุด ปักหมุดสถานการณ์ร้อน กรณีสารเคมีรั่วไหล ย่านพุทธมณฑลสาย 7 จังหวัดนครปฐม เมื่อวานนี้ แต่สิ่งที่เจอปัญหาเดิม ๆ หนีไม่พ้นเรื่องแผนรับมือเผชิญเหตุ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐที่เข้าตรวจสอบล่าช้า ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เองก็ไม่รู้จะรับมือกับเหตุการณ์อย่างไร  จนเกิดคำถาม ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลควรรื้อระบบบริหารจัดการใหม่ เพื่อลดหายนะจากสารเคมี เราจะไปตีตรงจุดเรื่องนี้กัน

ก่อนอื่นมาไล่เรียงเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล จากโรงงานประกอบกิจการ ผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และเส้นใยประดิษฐ์ ย่านพุทธมณฑลสาย 7 อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เหตุนี้เกิดเวลาประมาณ 06.00 น. เมื่อวานนี้ และสามารถปิดวาล์วได้ในเวลา 06.35 น. โดยขณะเกิดเหตุมีไอระเหยพุ่งสูง ไม่มีควัน ไม่มีประกายไฟ พบสารเคมีที่รั่วไหล มีชื่อว่า สารไดฟีนีลออกไซด์ (Diphenyl Oxide) 73% และสารไบฟีนีล (Biphenyl) 27% ซึ่งเป็นสารที่ไม่ได้เกิดจากกระบวนการผลิตโดยตรง แต่เป็นสารที่เกิดจาก Hot Oil หรือ น้ำมันถ่ายเทร้อนเกิดการรั่วไหล ประมาณ 30 ลิตร ทำให้เกิดกลิ่นฉุน และเหม็นเปรี้ยวกระจายไปยังพื้นที่รอบ ๆ ในรัศมีประมาณ 5 กิโลเมตร

เพราะสารมีน้ำหนักเบา จึงลอยไปได้ไกล มีผลทำให้เมื่อหายใจเอาไอระเหยเข้าไป จะเกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ เบื้องต้นไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือ เสียชีวิต แต่ยังส่งกลิ่นกระจายเป็นวงกว้างในพื้นที่โดยรอบ รวมถึง เขตรอยต่อกรุงเทพฯ และนนทบุรี ทำให้ประชาชนที่สัมผัสกับกลิ่นสารเคมีได้ ต้องหยุดกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนและชาวบ้าน ต่างเร่งหนีภัยจากกลิ่นสารเคมี

กรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่ให้คำแนะนำประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล และควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมถึงเข้าตรวจสอบคุณภาพอากาศ ในระยะ 1-20 กิโลเมตร จำนวน 6 จุด เพื่อยืนยันว่ามีความปลอดภัยแล้วหรือไม่ พบว่า ทั้ง 6 จุด ตรวจไม่พบสารอันตรายในบรรยากาศ

ขณะที่คุณภาพอากาศ บริเวณโรงงานและรอบ ๆ โรงงานรัศมี 1 กิโลเมตร พบค่าสารเบนซีน ไม่เกิน 1 ppm ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ที่ต้องไม่เกิน 5 ppm พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำจากลำน้ำสาธารณะ รัศมี 10 กิโลเมตร รอบโรงงานหาค่าสารปนเปื้อนด้วย

ด้าน รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความถึงกรณีเกิดเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลครั้งนี้ ว่า เป็นสารกลุ่มอะโรมาติกเบนซิน (Aromatic Benzene) ใช้ทำพลาสติก คาดว่าคือ โทลูอีน มีคุณสมบัติหลาย ๆ อย่างคล้ายเบนซิน (Benzene) มีความเป็นพิษคล้ายกันแต่อ่อนกว่าเบนซิน จึงมักถูกนำมาใช้แทนเบนซิน ซึ่งสารโทลูอีน เป็นของเหลวใส มีกลิ่นคล้ายเบนซิน และไวไฟ ในภาคอุตสาหกรรมจะใช้โทลูอีนเป็นสารตั้งต้น สำหรับสังเคราะห์สารอื่น ๆ เช่น ทำโฟม ใช้สังเคราะห์สีย้อม ผลิตภัณฑ์ยา และเครื่องสำอางค์ และทำลายพยาธิปากขอ

สารนี้มีผลต่อสุขภาพคือ ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ถ้าสูดดมนาน ๆ อย่างเช่น พวกดมกาว ระยะยาวมีผลต่อไขกระดูกและโลหิต อาจกลายเป็นมะเร็งในเม็ดเลือด และทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ หากสูดดมระยะสั้น ๆ ทำให้อ่อนเพลีย มึนเมา คลื่นไส้ ความจำเสื่อม และระคายในเยื่ออาหารแม้สูดดมเข้าไปแป๊บเดียว แต่ถ้าไอเข้มข้นมากจะทำให้วิงเวียน หมดสติ และอาจตายได้เพราะหายใจไม่ออก ซึ่งคนสูบบุหรี่และผู้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังจะมีความเสี่ยงต่อพิษโทลูอีนมากกว่าคนทั่วไป ส่วนที่ผิวหนังถ้าถูกโทลูอีนเป็นเวลานานซ้ำที่เดิม จะเป็นแผลอักเสบ ดังนั้น ในที่ทำงานไม่ควรปล่อยให้มีการระเหยฟุ้งกระจาย ต้องระบายอากาศให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ

ด้าน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แนะนำเจ้าหน้าที่ในโรงงาน หากสูดดมสารเคมีเข้าไป แล้วมีอาการแสบคอ หรือ แสบจมูกเกินกว่า 2 วัน มีอาการเดินเซ เวียนศีรษะไม่หาย หอบเหนื่อย ให้รีบพบแพทย์ทันที ส่วนประชาชนในพื้นที่ หากสัมผัสทางผิวหนัง และ ดวงตา จนระคายเคืองควรล้างด้วยน้ำสะอาด อาบน้ำชำระร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วนำไปซักปกติ แต่หากมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น แสบจมูก ลำคอ ให้ล้างด้วยน้ำเกลือ หรือ กลั้วคอเพื่อลดอาการ ถ้าไม่ดีขึ้นให้รีบมาพบแพทย์ทันที

เมื่อตรวจสอบสถิติการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรม ย้อนหลัง 5 ปี หรือ ช่วง ปี 2561-2564 เฉพาะเหตุการสารเคมีรั่วไหล พบว่า เกิดเหตุรวมทั้งสิ้น 39 ครั้ง หลังระงับเหตุได้เรียบร้อยแล้ว กรมโรงงานอุตสาหกรรม สั่งให้หยุดโรงงานเป็นการชั่วคราวจนกว่ามีการตรวจสอบโดยละเอียด และทราบสาเหตุแห่งการรั่วไหลชัดเจน รวมถึงแก้ไขจนเกิดความปลอดภัยได้มาตรฐานแล้ว พร้อมคำแนะนำติดตั้งวาล์ว เปิด-ปิด อัตโนมัติสำหรับกรณีฉุกเฉินเพิ่มเติม 

หลังเกิดเหตุก็มีคำถามว่า การบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับสารเคมีรั่วไหล ที่ภาครัฐทำอยู่นั้นเพียงพอหรือยัง ซึ่งกรีนพีชประเทศไทย อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อภาคประชาชน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้ออกกฎหมายบังคับให้โรงงานต่าง ๆ ต้องเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีทุกชนิด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รู้ข้อมูลนำไปสู่การใช้ป้องกันตัวเองได้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับสารเคมีในพื้นที่อาศัย

ด้านรองผู้บังคับการ ตำรวจภูธร จังหวัดนครปฐม ซึ่งดูแลรับผิดชอบคดีนี้ กล่าวว่า ตลอดทั้งวันวานนี้ (21 ก.ย.) ไม่มีประชาชนเข้ามาร้องเรียน หรือ แจ้งความว่าได้รับผลกระทบจากเหตุสารเคมีรั่ว โดยเบื้องต้นต้องรอผลตรวจสอบจากทุกหน่วยงาน หากพบการกระทำผิดก็เตรียมดำเนินคดีต่อไป

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark