ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

วันนี้ กกต.ชี้แจงพรรคการเมือง กรอบ 180 วัน ทำอะไรได้บ้าง

เช้านี้ที่หมอชิต - นับจากวันพรุ่งนี้ก็คือวันที่ 24 กันยายนเป็นต้นไป บรรดานักการเมืองที่กำลังจะกระโจนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง จะออกนอกแถวไม่ได้ ต้องปฏิบัติตามกติกา 180 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ต้องดูกันให้ดี รวมถึงการคิดค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่ง กกต. จะออกหลักเกณฑ์มาเป็นคู่มือให้ถือปฏิบัติ

วันนี้ กกต.ชี้แจงพรรคการเมือง กรอบ 180 วัน ทำอะไรได้บ้าง
เริ่มกันที่ไฟท์บังคับซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต. เมื่อวานนี้ มีกิจกรรมประชาสัมพันธ์ การให้บริการ สายด่วน 1444 ติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และวันนี้จะมีการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง ครั้งที่ 4 ผ่านสื่ออิเล็คทรอนิกส์ หรือ zoom ซึ่ง นายแสวง บุญมีเลขาธิการ กกต. จะชี้แจงเรื่องดังกล่าว รวมทั้งการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามที่กฎหมาย การรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศ กกต. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดประชุมสมาชิก เพื่อรับฟังความคิดเห็นและให้สมาชิกให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้รับเลือกตั้งเป็น สส. แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ทั้งหมดก็เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้งที่นักการเมืองต้องเตรียมตัวกันเอาไว้ เริ่มนับหนึ่งกันในวันพรุ่งนี้ ก็คือวันที่ 24 กันยายน 2565 มีอะไรทำได้ ทำไม่ได้ ต้องเอาให้ชัด รวมถึงการคิดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงด้วย

เรื่องนี้ อาจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ก็โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งคำถามไว้เหมือนกัน โดยนำป้ายเปรียบเทียบระหว่างป้ายหาเสียงของพรรคสร้างอนาคตไทย กับป้ายหาเสียงของพรรคเสรีไทย ป้ายแรกเป็นบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ส่วนป้ายที่สองเป็นป้ายแนะนำผู้สมัคร ซึ่งในมุมของ อาจารย์สมชัย เห็นว่า เมื่อเลยวันที่ 24 กันยายนไปแล้ว ยังติดได้ไหม แต่ต้องคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง รวมทั้งหมดต้องไม่เกินกว่าวงเงินที่ กกต. กำหนด

ส่วนเรื่องขนาดของป้าย ยังไม่ประกาศกำหนดทั้งเรื่องขนาดและจำนวนป้าย จึงยังทำได้อย่างเสรี แต่เมื่อไหร่ที่มีประกาศออกมา ต้องปรับแก้ให้ตรงกับประกาศของ กกต.

ขณะที่ อาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ประสาน กกต. ขอระเบียบปฏิบัติ เพื่อนำมาลงราชกิจจานุเบกษา ก่อน 24 กันยายน 2565 เพื่อให้ทุกคนรับทราบ และเตรียมนำระเบียบข้อปฎิบัติ แจ้งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แบ่งแยกบทบาทการทำงานให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการถูกฟ้องร้อง เพราะไม่ใช่แค่ผู้สมัครพรรคการเมืองเท่านั้นที่ต้องอยู่ในกรอบกติกา ครม. เองก็มีระเบียบที่ต้องปฏิบัติเหมือนกัน

ย้อนไปดูหน่อยว่าในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 กกต. กำหนดค่าใช้จ่ายเอาไว้ยังไงบ้าง เริ่มตั้งแต่จำกัดวงเงินวงเงินค่าใช้จ่าย รวมทั้งผู้สมัคร สส. และพรรคการเมือง ไว้สูงสุดไม่เกิน 560 ล้านบาท ลดลงจากการเลือกตั้งปี 2554 ประมาณ 200 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นผู้สมัคร สส. หนึ่งคนใช้จ่ายได้ไม่เกิน 1,500,000 บาท ส่วนพรรคการเมืองไม่เกิน 35 ล้านบาทต่อพรรค และถ้า สส. จะใส่ซองทำบุญในงานประเพณีต้องไม่เกิน 3,000 บาท โดยภายใน 90 วันหลังการเลือกตั้งผู้สมัคร สส. และพรรคการเมือง ต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายส่ง กกต. หากส่งไม่ทันเวลา หรือ ส่งไปไม่ถูกต้องครบถ้วนก็มีโทษทั้งจำคุก ปรับ และตัดสิทธิทางการเมือง

ก็ต้องดูว่าคราวนี้ กกต. จะกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายอย่างไร แต่ที่กำหนดมาแล้วในเบื้องต้นคือ หากรัฐบาลอยู่ครบเทอม จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม ปีหน้า รวมถึงมีแผนกรณีเกิดการยุบสภาว่า จะกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 แต่ไม่เกิน 60 วัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 103 กำหนด

นับถอยหลัง รอวัน ผึ้งแตกรัง
ยิ่งชัดเจนว่าสนามเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้ว ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองก็เข้มข้น คึกคักตามไปด้วย เมื่อวานนี้ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม ต้อนรับ นางสาววทันยา บุนนาค หรือ มาดามเดียร์ ซึ่งลาออกจาก สส.พรรคพลังประชารัฐ มาร่วมงานกับประชาธิปัตย์ พร้อมโปรยยาหอมให้กับพรรคและผู้บริหารพรรค ว่า เป็นพรรคเก่าแก่ มีความเป็นประชาธิปไตย ทั้งภายนอกและภายในพรรค

ส่วนพรรคสร้างอนาคตไทย กำชับลูกพรรคศึกษาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่เดือดร้อนอย่างรอบคอบ

ขณะที่พรรคไทยสร้างไทย  จะเริ่มลงพื้นที่ เคาะประตู ขอพักแรมกับชาวบ้าน เพื่อรับฟังปัญหาอย่างใกล้ชิด พร้อม เปิดแคมเปญ ล่ารายชื่อประชาชน แก้รัฐธรรมนูญ อาสาเป็นพรรคก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยศึกเลือกตั้งสนามนี้ มีคำวิเคราะห์จากกูรูการเมืองว่า จะได้เห็นขั้วการเมืองเดียวกันสู้กันเอง

และหลังจากนี้ก็คงจะได้เห็นความเคลื่อนไหวของบรรดา สส. ที่จะเริ่มมีข่าวเกี่ยวกับการย้ายสังกัดมากขึ้น เรียกว่าต้องจับตาปรากฏการณ์ผึ้งแตกรัง ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark