ข่าวในหมวด ประเด็นร้อนออนไลน์

พายุเข้าไทยลูกแรก พายุโนรู ทวีกำลังมากขึ้น "ดร.ธรณ์" เตือนให้หาทางหนีทีไล่ไว้ล่วงหน้า


พายุเข้าไทยลูกแรก พายุโนรู จ่อถล่มภาคเหนือ-อีสาน เตรียมรับมือฝนตกหนัก 28 ก.ย.นี้ ด้านดร.ธรณ์ ห่วงพายุโนรูทวีกำลังมากขึ้น เตือนประชาชนพื้นที่เสี่ยงหาทางหนีทีไล่ไว้ล่วงหน้า

พายุโนรู ไต้ฝุ่นโนรูพายุเข้าไทยลูกแรกของปีนี้ เช้าวันนี้ (27 ก.ย.65) กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศฉบับที่ 8  เตือน 29 จังหวัด และกทม.-ปริมณฑล เตรียมรับมือฝนตกหนักและตกหนักมากบางแห่ง จากอิทธิพลของพายุโนรู ในช่วงวันที่ 28 ก.ย.- 1 ต.ค.65 ให้ระมัดระวังเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นแรงซัดเข้าชายฝั่ง 

สำหรับจังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งเป็นผลกระทบจากพายุโนรูและมรสุม มีดังนี้

วันที่ 28 ก.ย.65
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดสกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก : จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

วันที่ 29 ก.ย.65
ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก : จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

จากสถานการณ์พายุโนรู ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ณ ขณะนี้ ล่าสุดเมื่อวานนี้ (26 ก.ย.65) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat เตือนถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากพายุโนรู ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมแนะประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอย่าประมาท ให้หาทางหนีทีไล่ไว้ล่วงหน้า โดยข้อความระบุว่า

ดูภาพดาวเทียมล่าสุดของไต้ฝุ่นโนรูแล้วเริ่มหนักใจ พายุทวีกำลังมากขึ้นในทะเลก่อนเข้าสู่ชายฝั่งเวียดนาม เหตุผลสำคัญคือน้ำทะเลในทะเลจีนใต้ร้อน ผมดูจากข้อมูลทุ่นกระแสสมุทรและจากที่อื่นๆ ช่วงนี้อยู่ที่ 29-30 องศา น้ำร้อนมีผลโดยตรงกับไต้ฝุ่น น้ำยิ่งร้อนยิ่งส่งพลังงานให้พายุแรงขึ้น น้ำร้อนยังทำให้ไอน้ำมากขึ้น ฝนย่อมมีมากขึ้นเป็นธรรมดา

เวียดนามเพื่อนบ้านเราเตรียมตัวแล้ว ของเขาเจอเต็มๆ ต้องอพยพกันยกใหญ่ แต่เราก็ประมาทไม่ได้เพราะคงเจอฝนหนักในบริเวณกว้าง จะอพยพล่วงหน้านานๆ ก็ยากหน่อยเพราะเดาไม่ถูกว่าตกกระหน่ำตรงไหนบ้าง ต้องใช้การเฝ้าระวังและเตือนภัยในช่วงสั้นๆ

เพราะฉะนั้น จึงอยากให้เพื่อนธรณ์เตรียมตัวไว้ โดยเฉพาะในพื้นที่คาดว่าฝนหนัก เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่าง ฯลฯ ที่คงตามข่าวจากหลายช่องทางได้ ใครอยู่ในที่เสี่ยง เช่น ใกล้แม่น้ำลำคลอง ใกล้ทางน้ำที่ลงมาจากเขา ต้องเตรียมทางหนีทีไล่ไว้ล่วงหน้า น้ำป่ามาเร็วครับ ดินถล่มยังเป็นอีกภัยต้องระวัง ใครอยู่ริมทางชัน ร่องเขา เตรียมตัวให้พร้อม

การเตรียมตัวให้มากที่สุดเป็นเรื่องสมควร ต่อให้ไม่เกิดอะไรก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิด เรารอดได้เพราะการเตรียมตัวนี่แหละครับ หลักการง่ายๆ ของการบริหารความเสี่ยงคือ Worst-case scenario คิดในทางเลวร้ายที่สุดเข้าไว้

"น้ำทะลักเข้าบ้าน รถเราจะจมไหม ไฟฟ้าดูดไหม เด็กเล็กคนแก่ไปอยู่ไหน เรามีน้ำกินข้าวกินหลายวันหรือไม่ ไฟดับทำไง มือถือชาร์จเต็มไหม ทางขาดต้องติดอยู่หลายวันเอาไงดี ฯลฯ ยังรวมถึงการบอกคนอื่นว่าเราอยู่ไหน เกิดอะไรจะติดต่อกันได้ ช่วยกันทัน โดยเฉพาะคนที่ไม่อยู่บ้าน ไปเที่ยวเข้าป่า ฯลฯ ต้องบอกให้คนอื่นทราบ"

ยังมีอีกหลายเรื่องที่ทำได้ โดยเริ่มจากนั่งนิ่งๆ แล้วค่อยๆ คิด worst-case ที่อาจเกิดกับเรา ลองลิสต์ไว้เป็นข้อๆ ก็ได้ครับ แล้วค่อยให้น้ำหนักว่าอะไรสำคัญกว่ากัน

ที่สำคัญ ในยุคโลกร้อน สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว อย่าเอาอดีตมาตัดสินปัจจุบัน เพราะที่โดนกันก็ได้แต่บอกว่าไม่เคยพบเคยเห็น climate change ชื่อก็บอกแล้วว่ามันเปลี่ยน มันไม่เหมือนเดิม มันถึงเป็นปัญหาครับ มองโลกในแง่ร้าย เป็นเรื่องที่ผมทำเป็นประจำ ทำมาหลายสิบปีแล้ว เพราะเรื่องนี้สำคัญมากหากเราต้องคุมทริปสำรวจทะเลที่ต้องรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดนานัปการ ในกรณีของภัยพิบัติ มองให้ยิ่งร้ายยิ่งดี และสำคัญสุด ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน รอบคอบไว้ล่วงหน้า ยังพอมีเวลาให้คิดให้เตรียมตัวอีกวันสองวัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พายุไต้ฝุ่นโนรู ได้พัดถล่มเกาะลูซอน ทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ และกรุงมะนิลามาแล้ว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนัก พายุโนรูนับเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในปีนี้ที่พัดถล่มฟิลิปปินส์ บ้านเรือนจำนวนมากได้รับความเสียหาย ล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 5 คน


BUGABOONEWS
ข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา, FB : Thon Thamrongnawasawat

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark