อังกฤษเผยผลทดลองพบสารในเห็ดเมา ช่วยลดอาการซึมเศร้าได้
รายการข่าวต่างประเทศ 3 พฤศจิกายน 2565 - มีการเปิดเผย ผลการทดลองทางคลินิกจากสถาบันด้านสุขภาพจิตในอังกฤษ พบว่าสารไซโลไซบิน ในเห็ดเมา ช่วยลดอาการซึมเศร้าที่รักษาได้ยาก จากการทดลองทางคลินิกของบริษัทด้านสุขภาพจิต คอมพาส พาธเวย์ (Compass Pathways) ในกรุงลอนดอน ของอังกฤษ พบว่าสาร ไซโลไซบินที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในเห็ดเมา สามารถช่วยลดอาการซึมเศร้าที่ยากต่อการรักษาได้ จากการทดลองในผู้ป่วย 233 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่รักษาด้วยยาต้านโรคซึมเศร้า 2 ชนิดขึ้นไปแล้วไม่ได้ผล และที่มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย โดยผู้ป่วยจะได้รับยารักษาเพียงตัวเดียว ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์มากจากเห็ดเมาในปริมาณที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม ตั้งแต่ 25 มิลลิกรัม 10 มิลลิกรัม และ1 มิลลิกรัมควบคู่กับการบำบัดทางจิตใจ
โดยอ้างอิงจาก เจมส์ รักเกอร์ จิตแพทย์จากคิงส์คอลลิจ ลอนดอน ที่ร่วมศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งจากการทดลอง ผู้ป่วยจะเข้าสู่ภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นราว 4-6 ชั่วโมง โดยเข้ารับการรักษาในตอนเช้า และกลับเย็น โดยพบว่า ในเวลา 3 สัปดาห์ กลุ่มที่ได้รับยาปริมาณสูงสุด คือ 25 มิลลิกรัม มีอาการซึมเศร้าลดลง มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาในปริมาณน้อยกว่า นอกจากนี้การรักษาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อผู้ป่วยได้รับยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาราว 12 สัปดาห์
ทั้งนี้ ผลการทดลองที่ได้นำลงตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ เพื่อทำให้นักวิจัยมีมุมมองที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับสารไซโลไซบิน และวิธีการรักษาผู้ป่วยซึมเศร้าในระยะยาว โดยทางบริษัทคอมพาส พาธเวย์ ได้รับสิทธิบัตรของอเมริกา ในการผลิตยาบรรเทารูปแบบต่างๆที่มีส่วนผสมของสารไซโลไซบิน ในเห็ดเมาแล้ว สำหรับใช้บรรเทาภาวะโรคซึมเศร้าที่ไม่ตอบสนองกับการรักษาแผนปัจจุบัน ซึ่งจากข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ขณะนี้ มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากถึง 264 ล้านคนทั่วโลก และคาดว่าน่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอีก