ข่าวในหมวด ประเด็นเด็ด 7 สี

ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : ห่วงหนี้เสีย วัยเกษียณ

ประเด็นเด็ด 7 สี - หนี้ครัวเรือนไทยที่ระดับ 14.9 ล้านล้านบาท ยังอยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แนะจับตากลุ่มคนวัยเกษียณ หลังพบเริ่มมีหนี้เสียเพิ่ม ติดตามใน ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เริ่มเป็นห่วงประชาชนกลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หลังพบว่าขีดความสามารถในการชำระหนี้เริ่มมีปัญหา จำนวนไม่น้อยเริ่มค้างชำระหนี้

ข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร พบว่า หนี้เสีย หรือ NPL มีมากกว่า 1,090,000 บัญชี ในจำนวนนี้ 780,000 ล้านบาท หรือราว 70% อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ พบว่า กลุ่มคนสูงวัยเริ่มติดบ่วง NPL หรือบ่วงหนี้เสีย และเมื่อเจาะลึกเข้าไปดูหนี้เสียตามประเภทสินเชื่อ จะเห็นว่าผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มี NPL จากสินเชื่อบุคคลขยายตัวค่อนข้างสูง โดยเป็นหนี้เสียต่อบัญชีเฉลี่ยประมาณ 77,000 บาท นอกจากนี้ หนี้เสียที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ก็ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 3 ปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 400,000 ล้านบาท จำนวนบัญชี 4.7 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2565 ที่อยู่ที่ 3.96 แสนล้านบาท จำนวนบัญชี 4.3 ล้านบัญชี ซึ่งเกือบ 60% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล

คราวนี้เมื่อเรามองในภาพรวม จะพบว่าหนี้สินครัวภาคเรือน สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเสมือนกับดักต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต ดังนั้นในระยะถัดไปมีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือการเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการตกชั้นของลูกหนี้ที่มีจำนวนมาก และมาตรการเฉพาะเจาะจงในการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เสียจากผลกระทบของโควิด-19 เช่น ขยายเวลาชำระหนี้ กำหนดสัดส่วนการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ เป็นต้น เพื่อลดจำนวนลูกหนี้เสียไม่ให้เพิ่มขึ้นในระยะถัดไป และรักษาสถานะลูกหนี้ให้อยู่ในระบบการเงิน

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังเร่งดำเนินนโยบาย ให้เจ้าหนี้สินเชื่อบุคคล สามารถเก็บดอกเบี้ยได้สูงขึ้นตามความเสี่ยงของลูกหนี้ ซึ่งตรงนี้ต้องคิดตามความคืบหน้าจากแบงก์ชาติว่าจะออกเกณฑ์และแนวนโยบายในลักษณะใด ย้ำว่า เพดานอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ แต่แนวทางนี้จะใช้ สำหรับผู้ประกอบการที่เขาสามารถแยกความเสี่ยงลูกค้าได้ ก็เท่ากับว่าผู้ประกอบการอาจจะคิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มได้นั่นเอง

ทั้งหมดก็คือข้อเป็นห่วงเกี่ยวกับภาระหนี้ที่ไม่ใช่การเฉพาะเจาะจงเฉพาะกลุ่มเจนวายอีกแล้ว แต่ตอนนี้ขยายวงไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุด้วย ส่วนการจัดเก็บดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ ยังต้องติดตามรายละเอียดกันต่อ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark