ข่าวในหมวด ประเด็นเด็ด 7 สี

ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : ไทยยังจมปัญหาหนี้ครัวเรือน

ประเด็นเด็ด 7 สี - ประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงาน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อีกปีละ 20,000-30,000 คน และยังคงจมอยู่ในวังวน ปัญหาหนี้ครัวเรือน ติดตามในประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ

จากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ล่าสุดวันนี้ สรุปได้ว่าประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานเฉพาะด้านอีกปีละ 20,000-30,000 คน ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ยังเป็นปัญหาเรื้อรัง

จากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผย สภาพการจ้างงานไตรมาสแรกปี 2566 มีจำนวน 39.6 ล้านคน ขยายตัว 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาคเกษตรขยายตัว 1.6% เนื่องจากมีการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัว 2.7% จากการจ้างงานในภาค ค้าส่ง ค้าปลีก รวมทั้งโรงแรมและภัตตาคาร เป็นผลสืบเนื่องมาจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว

ปัจจัยทั้งหมด ทำให้อัตราการว่างงานของไทย เริ่มปรับตัวดีขึ้น มาอยู่ที่ 1.05% หรือ จำแนกเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 460,000 คน ถือว่าการว่างงาน เริ่มเข้าสู่ระดับปกติแล้ว และสืบเนื่องมาจากสังคมไทย ได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล แต่ปรากฏว่า สถาบันการศึกษาเองกลับมีผู้สำเร็จการศึกษา ทั้งในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เพียงปีละ 14,000 คน ทำให้ประเทศไทยเรายังคงเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานคุณภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานดิจิทัล และไอที แต่ละปีภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานสายไอที ประมาณ 20,000-30,000 อัตราต่อปี ตรงนี้ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่สถาบันการศึกษาต้องปรับหลักสูตรให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ งานออกแบบดิจิทัล เทคโนโลยีชั้นสูง สอดแทรกในทุกอุตสาหกรรม และยังขาดแคลนอีกมาก

มาดูสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไตรมาส 4 ประจำปี 2565 มูลค่าอยู่ที่ 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% ซึ่งขยายตัวในอัตราชะลอลง หรือคิดเป็นสัดส่วน 86.9% ของจีดีพี ตรงนี้ตามที่เคยบอกไปว่าระดับหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังสูงกว่า 80% ของจีดีพี ยังวางใจไม่ได้

โดยพบว่าสินเชื่อยานยนต์ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยังต้องจับตาดูเป็นพิเศษ เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 13.1% ในไตรมาส 2 ปี 2565 เป็น 13.6% ในไตรมาส 3 หรือ เพิ่มเป็น 13.7% ในปี 65 สำหรับปัญหาหนี้เสีย NPL จากปัญหาโควิด-19 นับว่ายังทรงตัว โดยสินเชื่อบุคคลยังสูง 7.6% ส่วนสินเชื่ออยู่อาศัย 4.6% ซึ่งพบว่าประชาชนยังเป็นหนี้บัตรเครดิตในระดับสูง ตรงนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่อาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทุกภาคส่วนต้องเร่งแก้ปัญหา ไม่เช่นนั้น หนี้ครัวเรือนทั้งระบบจะกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่ทำลายล้างเศรษฐกิจไทย ไปฟังความเห็นของเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ

แต่การท่องเที่ยวก็ยังเป็นข่าวดี หลังนักท่องเที่ยวยังหลั่งไหลเข้าไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าช่วงนี้โอกาสการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ หรือ สายมูเตลู กำลังมาแรง เท่าที่ทราบมามูลค่าตลาดวัตถุมงคล เครื่องราง ของขลัง การแสวงบุญ เฉพาะในประเทศ มีเงินหมุนเวียนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ตลาดสายมูทั่วโลกขยายตัว 3 เท่า ไทยเราก็อาจกำหนดแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวให้ชัดเจนขึ้นเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark