ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตอบทุกคำถาม อะไรอยู่ใน MOU รัฐบาลก้าวไกล

เช้านี้ที่หมอชิต - จาก MOU 23 ข้อ ต่อยอดสู่คำถามจากสื่อมวลชนและประชาชน กินเวลาถามตอบรวม ๆ กันเกือบ 2 ชั่วโมง คำถามมีทั้งเรื่องบรรจุและเรื่องที่ไม่ได้นำไปใส่ไว้ใน MOU ฉบับนี้

เรื่องแรก คือ การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลประกาศไว้ในหลายเวทีและหลายวาระว่าจะมีการแก้ไข แต่กลับไม่มีเขียนไว้ใน MOU ฉบับนี้เพราะอะไร และพรรคร่วมแต่ละพรรคมีจุดยืนในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ไปฟัง

การนิรโทษกรรมคดีการเมืองให้แก่ประชาชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตั้งแต่ 20 พฤษภาคม 2557 โดยตั้งคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่หลุดจากเอ็มโอยูด้วย หลังมีรายงานข่าวปรากฏในสื่อหลายสำนักว่า พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย เพราะเกรงถูกครหาว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่ นายทักษิณ ชินวัตร โดย นายพิธา ชี้แจงเรื่องนี้สั้น ๆ เพียงว่า มีความพยายามที่จะพูดคุยกัน อย่างไรก็ดี ได้ตัดสินใจว่าจะเป็นวาระเฉพาะแต่ละพรรค และเรื่องนี้จะเป็นวาระเฉพาะของก้าวไกล

ที่พลิกโผ สมรสเท่าเทียม เป็นประเด็นที่ก่อนหน้าเคยมีข้อกังวลว่าจะไม่มีการบรรจุไว้ใน MOU เพราะอาจขัดกับความเชื่อทางศาสนา ซึ่งเป็นข้อกังวลของพรรคประชาชาติ แต่ในที่สุดก็มีการบรรจุไว้ โดยมีคำอธิบายจาก นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ดังนี้

อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น สมรสเท่าเทียม คือ การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ว่าด้วยการสมรส เป็นการรับรองสิทธิทางกฎหมาย ขณะที่การทำพิธีทางศาสนาหรือความเชื่อเป็นอีกส่วนหนึ่งที่กฎหมายไปบังคับไม่ได้ เรื่องนี้เมื่อทำความเข้าใจตรงกันจึงมีการบรรจุไว้ใน MOU
 
อีกประเด็นที่มีการสอบถามกันมาก คือ การนำกัญชากลับไปอยู่บัญชียาเสพติด นายพิธา กล่าวว่า ปัญหาของเรื่องกัญชาที่ผ่านมา คือ การไม่มีสภาพบังคับ เพราะกัญชาถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติด แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้เกิดสุญญากาศ เมื่อบันทึกฉบับนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษผ่านการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข หมายความว่าจะมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา ใครที่ทำถูกต้องตามกฎหมายมาตลอด จึงไม่ต้องกังวล

นอกจากนี้ ยังมีคำถามเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ว่าจะสามารถจบได้ในสมัยนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พิธา หรือไม่ นายพิธา ตอบว่า ให้คำมั่นสัญญาว่า เรื่องกระบวนการสันติภาพต้องมีพลเรือนอยู่ในกระบวนการ อาจมีช่วงเปลี่ยนผ่านสักเล็กน้อย แต่คิดว่าพลเรือนต้องนำทหารในเรื่องนี้ ภัยความมั่นคงต้องเปลี่ยนความมั่งคั่งทางอาหาร ทางสาธารณสุขแก้ไขปัญหา แต่ไม่ใช่ใช้งบจำนวนมาก แล้วมองเป็นเรื่องความมั่นคงอย่างเดียว

ส่วนกรณีมีการวิเคราะห์ทางการเมืองว่า สส. ของพรรคพลังประชารัฐ จะมารวมกันกับพรรคเพื่อไทย กลายเป็นเสียงข้างมาก นายพิธา ย้ำว่า "ขอพูดในฐานะผู้นำการจัดตั้งรัฐบาล เราทำงานด้วยกันมา 4 ปี และจากที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลมา 1 สัปดาห์ ยืนยันว่า ทุกพรรคที่มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลมีความหนักแน่น ทำงานด้วยความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงไม่มีความกังวลแต่อย่างใด

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark