ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : กังขาการใช้ดุลยพินิจ ป.ป.ช. และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลคดีนาฬิกาหรู

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ติดตามกรณี แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน ที่แม้ในเชิงคดีจะจบไปแล้ว แต่ข้อกังขาถึงการใช้ดุลยพินิจของ ป.ป.ช. ในการตีตกคดีนี้ ยังไม่จบ ลามไปถึงคำถามเกี่ยวกับสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของสื่อและประชาชน ติดตามกับ คุณสุธาทิพย์ ผาสุข

ผ่านมาเกือบ 6 ปี กับคดีแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน แม้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะหลุดพ้นข้อกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบไปแล้ว หลัง ป.ป.ช. ตีตกไม่รับคำร้องไปแบบไม่เป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 3  พร้อมเสียงเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่นำไปสู่การใช้ดุลพินิจยกคำร้องของ ป.ป.ช. แต่ก็ไม่เป็นผล กระทั่ง นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูล 3 รายการ ประกอบด้วย รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมด, ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ และ รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ต่อมาในวันที่ 21 เมษายน 2566 ศาลปกครองสูงสุด ก็มีคำสั่งให้ ป.ป.ช. ต้องเปิดข้อมูลทั้ง 3 รายการภายใน 15 วัน แต่ ป.ป.ช. กลับมีมติเปิดข้อมูลแค่ 2 รายการเท่านั้น ซึ่ง นายวีระ เห็นว่าเป็นความพยายามประวิงเวลา พร้อมตั้งคำถามถึงความศักดิ์สิทธิ์ของคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

ขณะที่เลขาธิการ ป.ป.ช. ให้เหตุผลที่ไม่เปิดเผยความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ โดยอ้างถึงความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร และความสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ

การมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดออกมาแล้ว และ ป.ป.ช. ยังไม่ได้ปฏิบัติอย่างครบถ้วน ทำให้เกิดคำถามว่า องค์กรตรวจสอบสามารถเลี่ยงไม่ทำตามคำพิพากษาได้หรือ กระทั่งนำไปสู่การรณรงค์ถอดถอน ป.ป.ช. อยู่ในขณะนี้ โดยประเด็นที่มีการเรียกร้องกันเพิ่มเติม คือ ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เปิดทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลมากขึ้นหรือไม่

ขณะที่ในมุมมองของผู้ผ่านการทำหน้าที่ตรวจสอบ ให้ความเห็นว่า ทุกองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ ควรต้องตรวจสอบได้ และเปิดเผยเพื่อความโปร่งใส

ถือเป็นอีกประเด็นที่สังคมต้องร่วมกันขบคิด การใช้อำนาจของ ป.ป.ช. จะมีแนวทางใดตรวจสอบ ความลับทางคดี และการคุ้มครองผู้ทำคดี กับความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ เส้นแบ่งที่สมดุลควรอยู่ตรงไหน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark