ข่าวในหมวด ประเด็นเด็ด 7 สี

ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : ทำความรู้จัก งบประมาณฐานศูนย์

ประเด็นเด็ด 7 สี - ช่วงที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมือง คุณผู้ชมคงได้ยิน คำว่า งบประมาณฐานศูนย์ ซึ่งวิธีการจัดทำงบประมาณแบบนี้ ก็เป็น 1 ใน 216 นโยบาย ของกรุงเทพมหานคร ในสมัยของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ประเด็ดเศรษฐกิจวันนี้เราไปติดตามเรื่องนี้กัน

การจัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ หรือ Zero-Based Budgeting เป็นหนึ่งในโยบายที่พรรคก้าวไกลเตรียมขับเคลื่อน หลายคนบอกว่าอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไปสักเท่าไหร่ แต่ต้องบอกว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้อง

โดยทั่วไปแล้ว การจัดทำงบประมาณประจำปี ของทั้งภาครัฐ และเอกชน มักจะใช้วิธีที่เรียกว่า "Incremental Budgeting" หรือการพิจารณา "เฉพาะงบประมาณส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมา" เช่น เมื่อปีงบประมาณ 2565 รายการ A ได้รับงบประมาณ 300 ล้านบาท ต่อมาในปี 2566 มีการของบประมาณเพิ่ม รัฐบาลก็จะพิจารณาเพียงแค่รายการที่เพิ่มขึ้น เพราะงบประมาณรายการเดิมได้ถูกพิจารณาไปแล้ว ซึ่งสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นในการจัดทำงบประมาณแบบนี้ ก็คือพอใกล้สิ้นปีงบประมาณ หน่วยงานก็จะพยายามเบิกงบที่เหลือมาใช้ให้หมด ที่เรียกกันว่า "งบล้างท่อ" เพราะอะไร เพราะกลัวว่าปีหน้าจะถูกตัดงบลง ส่วนการของบประมาณในปีต่อไป ก็มักจะใช้รายการเดิมเป็นฐาน และบวกเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อ หรืออาจบวกเพิ่มตามปริมาณงาน ส่วนใหญ่ก็จะเพิ่มราว ๆ 5 - 10%

ข้อเสียคือ รายการเก่าที่ไม่จำเป็น อาจจะยังคงได้รับงบประมาณในปีต่อไป คราวนี้ก็เป็นที่มาของ "งบบวม" ขาดการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ข้าราชการก็ไม่มีแรงจูงใจ เพราะไม่ว่าเนื้องานจะเป็นอย่างไร ยังไงหน่วยงานที่เคยได้รับงบฯ มาก ๆ ก็ยังคงได้อยู่ดี และนี่ก็เป็นที่มาของ "Zero-Based Budgeting" หรือ การตั้งงบประมาณฐานศูนย์ ซึ่งใช้ในต่างประเทศ อย่าง สหรัฐอเมริกา มาแล้ว ก็คือล้างบัญชีกันใหม่ เริ่มพิจารณากันใหม่ จากฐานที่เป็นศูนย์ โดยไม่อ้างอิงงบเดิมว่าหน่วยงานไหน กระทรวงใด เคยได้งบฯ เท่าไหร่

ทีมงานของเราลองไปค้นข้อมูล พบ เพจลงทุนแมน เขาได้บอกขั้นตอนการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ เอาไว้แบบนี้ คือ ขั้นตอนแรก คือการกำหนดวัตถุประสงค์ และผลลัพธ์ที่ต้องการ ตามาด้วยก็มาจัดลำดับความสำคัญของงาน และระบุความจำเป็นของงาน ตามด้วยขั้นตอนที่ 4.คือกำหนดงบประมาณออกมาทีละรายการ และเมื่อจัดทำงบประมาณออกมาแล้ว ก็ต้องมีการควบคุม และติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อให้ผู้บริหารเข้าใจได้ว่า งบประมาณที่จัดสรรเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่

การจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ มีข้อดีหลายอย่าง ทำให้แต่ละหน่วยงานได้งบประมาณสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ สามารถปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่น ไปตามยุทธศาสตร์หรือสถานการณ์ แต่ก็มีข้อเสีย เช่นอาจมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาเยอะ ทำให้ใช้เวลามาก ไม่ว่าการจัดทำงบประมาณจะออกมาในรูปแบบใด แต่ตอนนี้ที่ห่วงกันคือการอนุมัติงบประมาณจะไม่ทันการ เพราะการจัดตั้งรัฐบาลใหม่อาจจะล่าช้าไปกว่าที่หลาย ๆ ฝ่าย ได้ประเมินกันไว้

สรุปแล้วการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่จะให้ดีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ต้องจัดทำให้ไว และเร็ว เพราะการเบิกจ่ายยิ่งลากยาวออกไป ก็จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพราะขาดเงินหมุนเวียน หรือเงินอัดฉีดในระบบด้วยเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark