ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

เรืองไกร ยื่นหลักฐานเพิ่มครั้งที่ 7 มัด พิธา ถือหุ้นสื่อฯ

ข่าวในประเทศ 6 มิถุนายน 2566 - ห้องข่าวภาคเที่ยง - ข่าวใหญ่วันนี้ ชวนคุณผู้ชมไปติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีถือหุ้นสื่อของ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หลังคดีไอทีวีในศาลปกครองใกล้จบ บทสรุปชะตากรรมไอทีวี กับคดีหุ้นสื่อ คุณพิธา เกี่ยวพันกันอย่างไร ไปติดตามกันเลย

เรืองไกร ยื่นหลักฐานเพิ่มครั้งที่ 7 มัด พิธา ถือหุ้นสื่อฯ
เริ่มกันที่ความเคลื่อนไหวครั้งที่ 7 ของ คุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เกี่ยวกับคดีหุ้นสื่อของคุณพิธา จากการถือหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น วันนี้ไปยื่นเรื่องให้ กกต. ส่งหนังสือถึงบริษัทไอทีวี เพื่อสอบถามว่า คุณพิธา มีการขายหุ้นไปแล้วจริงหรือไม่ โดยหลังจากที่ คุณเรืองไกร เปิดประเด็นนี้ออกมา ก็มีสื่อมวลชนไปถาม คุณพิธา ปรากฏเจ้าตัวไม่ยอมตอบโยนให้ไปถาม คุณชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ทำเอา คุณเรืองไกร ลมออกหูเลย ยกเอาคำหาเสียงของก้าวไกล มาตอกกลับ ไหนว่าจะทำทุกอย่างโปร่งใส ทำไมแค่ข้อเท็จจริงว่า ขายหุ้นไอทีวีไปแล้วหรือยัง จึงบอกชัด ๆ ต่อสังคมไม่ได้ และที่สำคัญคือ แม้จะขายหุ้นไปแล้ว แต่ถ้าทำหลังจากการลงสมัคร สส. ก็ไม่มีผลอะไร เพราะถือว่าขาดคุณสมบัติตั้งแต่วันที่ลงสมัครแล้ว

กางคำร้อง เรืองไกร พิธา ขาดคุณสมบัติ สส. - แคนดิเดตนายกฯ 
ทีนี้เรามาเรียงข้อมูลกันหน่อยว่า คำร้องของ คุณเรืองไกร มีอะไรบ้าง ก็จะไล่ตั้งแต่มีคุณสมบัติต้องห้ามไม่ให้ลงสมัคร สส. เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองไม่ได้ ซึ่งสองส่วนนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ที่ระบุคณุสมบัติต้องห้ามไว้ว่า ต้องไม่เป็นเจ้าของ หรือ ผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือ สื่อมวลชนใด ๆ

ส่วนเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามที่ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค จะเป็นไปตามข้อบังคับพรรคก้าวไกล ข้อที่ 12 ที่ระบุไว้ว่า การเป็นสมาชิกพรรคต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งหากมีการชี้ว่า คุณพิธา ถือหุ้นสื่อจริง ก็เท่ากับ คุณพิธา จะต้องขาดจากการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลด้วย

ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อเป็นสมาชิกพรรคไม่ได้ ก็เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่ได้ และยังมีประเด็นต่อเนื่องตามมาอีกด้วยว่า การรับรองผู้สมัคร สส. ทั้งสองระบบของคุณพิธา ในฐานะหัวหน้าพรรค จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

อาจมีคำถามว่า ตอนที่ คุณธนาธร มีปัญหาเรื่องหุ้นสื่อ ก็ไม่เห็นมีการร้องให้ต้องเลือกตั้งซ่อมทั้งประเทศ ทีมข่าวของเราจึงไปค้นข้อมูลเกี่ยวกับข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ พบว่า ไม่มีข้อกำหนดเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามของสมาชิกพรรค เหมือนกับของพรรคก้าวไกล ก็เลยไม่มีเรื่องให้วินิจฉัยเกี่ยวกับความเป็นหัวหน้าพรรค

เปิดรายงานการประชุมฯ คาด ปิดฉาก ปมพิพาท สปน. - ไอทีวี ปีนี้
มาถึงประเด็นที่กำลังร้อนแรงอยู่ตอนนี้คือ ทำไปทำมาที่บอกว่า ไอทีวีจอดำมากว่าสิบปีแล้วนั้น สุดท้ายอาจฟื้นคืนชีพได้ เพราะยังไม่ได้ยกเลิกกิจการ ประกอบกับกำลังจะมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดภายในปีนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ปรากฏในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ที่ทางบริษัทได้คาดการณ์เอาไว้ โดยหากศาลปกครองสูงสุด ยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ให้บริษัทชนะคดี

ก็จะเป็นการปิดฉากการต่อสู้คดีที่ยาวนานมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึง ปี 2566 รวม 19 ปี ยุติลงแบบเจ๊ากันไป เพราะมีหน้าที่ต้องชำระเงินในยอดใกล้เคียงกันคือกว่า 2,800 ล้านบาท เท่ากับไม่มีใครต้องจ่ายเงิน ทั้งไอทีวี และ สปน. จะทำให้ ไอทีวี เป็นอิสระ ไม่มีพันธะผูกพันต้องจ่ายค่าปรับใด ๆ ให้กับทาง สปน. อีก จากนั้นก็อยู่ที่ว่าจะตัดสินใจกลับมาประกอบกิจการสื่อต่อหรือไม่ เพราะยังไม่เคยแจ้งยกเลิกกิจการ

ส่วนข้อมูลนี้จะมีน้ำหนักในการพิจารณาของ กกต. ปม คุณพิธา ถือหุ้นสื่อมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กกต. ซึ่งหากเห็นว่าผิด ก็ยังต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้ายด้วย และทาง คุณพิธา เอง ก็ยังมั่นอก มั่นใจ พร้อมสู้คดี เชื่อผ่านขวากหนามนี้ ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ สุดท้ายเรื่องนี้จะจบอย่างไร ยังต้องรอดูกันต่อไป

ล่าสุด คุณพิธา เคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊ก ระบุ ผมพร้อมสู้กับความพยายามคืนชีพ ITV เพื่อสกัดกั้นพวกเรา มีเนื้อหาโดยสรุป ชี้แจงถึงข้อพิพาทระหว่าง ไอทีวีกับ สปน. ยืนยันสัญญาร่วมงานสิ้นสุดแล้ว และตนเองถือครองหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดกตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2550 กระทั่งเข้ามาทำงานการเมือง เป็น สส. ก็แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. อย่างเปิดเผย จนถึงในปัจจุบัน พรรคก้าวไกล ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน กว่า 14 ล้านเสียง ก็เชื่อว่ามีความพยายามคืนชีพไอทีวีเพื่อเล่นงานตนเอง

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ามีข้อพิรุธหลายอย่างในรายงานการประชุมบริษัทฯ เกี่ยวกับการสอบถามเรื่องการกลับมาประกอบกิจการสื่อมวลชน เหมือนเป็นพฤติการณ์พยายามฟื้นคืนชีพไอทีวี จึงได้หารือกับทายาทอื่น จนสรุปร่วมกันว่า ให้จัดการแบ่งมรดกหุ้น ITV ให้แก่ทายาทอื่นไปโดยสิ้นเชิง เพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับบริษัท ITV ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ดังข้อพิรุธดังกล่าวข้างต้น

คุณพิธา ยืนยันด้วยว่า ไม่ได้มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ โดยการโอนหุ้นไปก่อนหน้านี้นั้นก็มั่นใจว่า ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนแล้ว และพร้อมที่จะชี้แจงต่อ กกต. ไม่มีความกังวล ไม่เสียสมาธิ และจะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล โดยมี พิธา เป็นนายกรัฐมนตรีให้สำเร็จ ไม่มีอำนาจไหนมาสกัดกั้นฉันทนุมัติของประชาชนได้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark