ข่าวในหมวด ประเด็นเด็ด 7 สี

ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : ส่องภาษีความมั่งคั่ง

ประเด็นเด็ด 7 สี - ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ วันนี้ คุณเกณฑ์สิทธิ์ พาคุณผู้ชมไปทำความรู้สึกกับ "ภาษีความมั่งคั่ง" หรือที่บางคนเรียก "ภาษีคนรวย" ไปติดตามกัน

ภาษีความมั่งคั่ง ที่รัฐบาลจะไปเรียกเก็บเงินกับคนรวย ๆ ที่มีรายได้เกินเกณฑ์กำหนด ถือเป็นแนวทางหาแหล่งรายได้เพิ่มเติม ภาษีความมั่งคั่ง ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในต่างประเทศก็มีการจัดเก็บกันแล้ว

หลังจากที่ พรรคก้าวไกล นำแนวคิดการจัดเก็บ "ภาษีความมั่งคั่ง" หรือ Wealth Tax มาใช้เป็นส่วนหนึ่งแผนบริหารจัดการเศรษฐกิจไทย ด้วยการเก็บภาษีจากผู้ที่มีสินทรัพย์ ซึ่งรวมไปถึงหุ้นที่ถืออยู่ หักลบหนี้สิน ส่วนที่เกิน 300 ล้านบาท จะเก็บภาษี 0.5% มีการคำนวณมาคร่าว ๆ ว่า ประชาชนประมาณ 100,000 คน จะอยู่ในกลุ่มที่เตรียมต้องจ่ายภาษีในส่วนนี้ อย่างที่บอกว่า ภาษีความมั่งคั่ง ไม่ใช่เรื่องใหม่

ก่อนหน้านี้ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ก็มีการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งมาแล้ว 12 ประเทศ ระหว่างนั้นก็มีหลายประเทศอยู่เหมือนกันที่ไม่ยอมรับการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง สุดท้ายแล้ว ก็เหลือเพียง 5 ประเทศเท่านั้น ที่ยังจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง คือ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ และ โคลอมเบีย

อย่าง สวิตเซอร์แลนด์ เริ่มเก็บภาษีความมั่งคั่งมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยถือหลักการว่า สินทรัพย์ทุกประเภท อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีความมั่งคั่งทั้งหมด ทั้งเงินฝาก หุ้นทั้งในบริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาด และบริษัทส่วนตัว อสังหาริมทรัพย์ งานศิลปะ เครื่องประดับมีค่า รถยนต์ เครื่องบิน เป็นต้น มียกเว้นให้สำหรับอุปกรณ์ของใช้ และเครื่องไฟฟ้าในบ้าน และเงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุงาน โดยเสียภาษีในอัตรา 0.5-0.8% ขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐ

สำหรับ ฝรั่งเศส เรียกภาษีนี้ว่า ISF คนรวยจะเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า 0.5 - 1.5% ของมูลค่าทรัพย์สิน ชำระเป็นรายปี มีผู้เข้าข่ายเสียภาษีนี้ราว 350,000 ครัวเรือนด้วยกัน แต่ต่อมามีการปรับข้อกำหนด ทำให้ปัจจุบันนี้มีเพียง 100,000 ครัวเรือนในฝรั่งเศส ที่เข้าข่ายต้องชำระภาษี

ส่วน นอร์เวย์ เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ชื่อว่าเก็บภาษีแพงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพื่อแลกมากับสวัสดิการสาธารณะและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ล่าสุด หลังรัฐบาลนอร์เวย์ มีมติขึ้นภาษีความมั่งคั่ง ผลคือบรรดามหาเศรษฐีทั้งหลายก็พากันย้ายออกนอกประเทศ จากที่รัฐบาลเคยกวาดรายได้ไปมหาศาลก็หายวับไปกับตา

ส่วน สิงคโปร์ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการเรียกเก็บภาษีความมั่งคั่งเพิ่มเติมจากกลุ่มผู้มีรายได้สูงในประเทศ แต่มองว่าแนวคิดนี้ก็อาจส่งผลกระทบเชิงลบกับสิงคโปร์ด้วยเหมือนกัน ที่วิตกก็คือกลัวว่า บรรดามหาเศรษฐีจะขนเงินออกนอกประเทศไปลงทุนที่ประเทศอื่น

สำหรับประเทศไทยของเรา ที่กำลังจะมีการเรียกเก็บภาษีความมั่งคั่ง ก็อาจจะต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ การจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง ถือเป็นความท้าทาย เพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก เหมือนกับที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark