ข่าวในหมวด รอบรั้วรอบโลก

คืบหน้าเหตุความรุนแรงระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์

 

การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ของปาเลสไตน์ ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มีรายงานผู้เสียชีวิตจากทั้งสองฝ่ายแล้วกว่า 1,100 คน นับเป็นความรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่สงครามอาหรับ-อิสราเอล เมื่อปี 2516

สถานการณ์ตึงเครียดและความขัดแย้ง ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ นับเป็นความขัดแย้งที่มีความซับซ้อนและดำเนินมาอย่างยาวนาน ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายต่างโจมตีกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่การโจมตีโดยกลุ่มฮามาส เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (7 ต.ค.) เกิดขึ้นโดยไม่ที่ฝ่ายอิสราเอลไม่ทันตั้งตัว โดยกลุ่มฮามาสยิงจรวดหลายพันลูกใส่อิสราเอล พร้อมส่งกำลังเข้าแทรกซึมในพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล บริเวณตามแนวพรมแดนฉนวนกาซา รวมทั้งมีการจับตัวประกันอย่างน้อย 100 คน ทำให้อิสราเอลตอบโต้กลับในทันที

ล่าสุด กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่การโจมตีครั้งใหญ่จากกลุ่มฮามาส ที่มีประชาชนในอิสราเอลเสียชีวิตแล้วมากกว่า 700 คน เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังพบร่างผู้เสียชีวิตมากกว่า 250 คน ในงานเทศกาลดนตรีของอิสราเอลที่จัดขึ้นบริเวณใกล้กับฉนวนกาซา ซึ่งมีรายงานผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน

ขณะเดียวกัน ฝ่ายปาเลสไตน์เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตในเขตฉนวนกาซาอย่างน้อย 413 คน บาดเจ็บอีกราว 2,300 คน หลังถูกอิสราเอลยิงถล่มกลับ นับเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงมากที่สุด นับตั้งแต่สงครามอาหรับ-อิสราเอล เมื่อปี 2516 โดยหลายชาติยืนยันว่า พลเมืองของตนถูกสังหาร, ลักพาตัว หรือสูญหายไประหว่างการสู้รบ อาทิ บราซิล, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ไอร์แลนด์, เม็กซิโก, ยูเครน และไทย

ขณะที่ หัวหน้ากลุ่มฮามาสระบุว่า "เราจะไม่ยอมแพ้" พร้อมเรียกร้องให้นักรบกลุ่มต่อต้านในเขตเวสต์แบงก์ ตลอดจนชาติอาหรับและมุสลิมเข้าร่วมการสู้รบครั้งนี้ ซึ่งผู้นำกลุ่มฮามาสคาดเดาว่า จะได้รับชัยชนะ และให้คำมั่นว่า จะเดินหน้าต่อไปจนกว่าจะปลดปล่อยดินแดนของตนได้

ด้านสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มการสนับสนุนต่อกองทัพอิสราเอล ทั้งการสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์และกระสุน โดย กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยว่า สหรัฐฯ จะส่งเรือรบและเครื่องบินรบเข้าไปใกล้อิสราเอล เพื่อแสดงถึงการสนับสนุน ซึ่งรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้สั่งการให้กองเรือบรรทุกเครื่องบิน "ยูเอสเอส เจอร์ราลด์ อาร์ ฟอร์ด แคริเออร์ สไตรก์ กรุ๊ป" (USS Gerald R. Ford Carrier Strike Group) เคลื่อนเข้าไปในทะเลเมดิเตอเรเนียนตะวันออก ใกล้กับอิสราเอลแล้ว

สำหรับบรรยากาศที่สนามบินในกรุงเทลอาวีฟ ของอิสราเอล มีรายงานว่า สายการบินระหว่างประเทศหลายสายถูกสั่งระงับการบินจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ทั้งสายการบินของสหรัฐฯ อาทิ ยูไนเต็ดแอร์ไลน์, เดลตาแอร์ไลน์ และอเมริกันแอร์ไลน์ ตลอดจนสายการบินของชาติยุโรป อย่างเช่น แอร์ฟรานซ์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานว่า อิสราเอลประกาศปิดน่านฟ้าของตน

ขณะที่ บางชาติเริ่มอพยพพลเมืองของตน ออกจากอิสราเอลแล้ว โดยวานนี้ รัฐบาลบัลแกเรียได้อพยพพลเรือนกว่า 90 คน ออกจากอิสราเอล และเดินทางถึงสนามบินกรุงโซเฟียแล้ว

สำหรับความเคลื่อนไหว หลังการประชุมฉุกเฉินที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เอกอัคราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำสหประชาชาติเปิดเผยว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังใช้ความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาคเพื่อลดความรุนแรงของสถานการณ์ในตอนนี้

ขณะที่ รองเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์ที่เกิดนั้นน่าเศร้ามาก พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมโลกประณามการโจมตีที่ไม่มีการยั่วยุมาก่อนเช่นนี้ และได้ย้ำว่าสหรัฐฯ จะยังคงสนับสนุนอิสราเอล แต่ก็มีคำเตือนว่า ความขัดแย้งอาจบานปลาย

ทั้งนี้ เอกอัคราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ ได้ประณามกลุ่มฮามาสว่า เป็นอาชญากรสงคราม และถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำลายความป่าเถื่อนของกลุ่มก่อการร้ายให้สิ้นซาก เพื่อไม่ให้เกิดความน่าสะพรึงกลัวเช่นนี้อีก

อย่างไรก็ตาม ยังเกิดการประท้วงขึ้นที่หลายเมืองของสหรัฐฯ โดยเมื่อวานนี้ ที่นครชิคาโก ในรัฐอิลลินอยส์ มีชาวปาเลสไตน์ในสหรัฐฯหลายร้อยคน รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ หยุดให้ความช่วยเหลือแก่อิสราเอล และเรียกร้องให้ประชาคมโลกหยุดเพิกเฉยต่อปาเลสไตน์ พร้อมทั้งร้องขอให้ชาวสหรัฐฯ ควรจะส่งเสียงของพวกเขา เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วงในครั้งนี้ด้วย

ส่วนที่ย่านไทม์สแควร์ใจกลางนครนิวยอร์ก มีกลุ่มผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ออกมาแสดงจุดยืน เพื่อต่อต้านการกระทำของสหรัฐฯ โดยมีผู้ประท้วงได้เคลื่อนตัวจากไทม์ สแควร์ ไปยังสถานกงสุลอิสราเอล ก่อนจะเคลื่อนต่อไปที่หน้าอาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งบางคนได้นำป้ายที่มีข้อความ "เอนด์ ยู.เอส เอด" (End U.S. Aid) หรือ การยุติความช่วยเหลือจากสหรัฐฯและข้อความที่สื่อว่า การต่อต้านสหรัฐฯของพวกเขาไม่ใช่การก่อการร้ายด้วย (Resistance is not terrorism) โดยผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กได้ออกมาประณามกลุ่มผู้ประท้วงว่า เป็นความน่ารังเกียจทางศีลธรรม

โดยในวันเดียวกันนี้ ก็มีชาวนิวยอร์กออกมารวมตัวกันเพื่อประณามการโจมตีของกลุ่มฮามาสอย่างไร้เหตุผล และจะยืดหยัดอยู่กับชาวอิสราเอลด้วย

ขณะที่หน้าทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตันดี.ซี มีกลุ่มผู้ประท้วงร่วมกันเปล่งเสียง แสดงจุดยืนสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ โดยมีผู้ประท้วงบางคนได้เปิดเผยว่า การกระทำของอิสราเอลที่ผ่านมา คือต้นตอของความขัดแย้งแต่ก็รู้สึกกังวลเกี่ยวกับความสูญเสียที่อาจมากขึ้นในฉนวนกาซา

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark