พนังแตก น้ำยมหลาก ซัดบ้านพังทั้งหลัง
เช้านี้ที่หมอชิต - สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ต้องบอกว่าขณะนี้ยังหนักหน่วง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมากอย่างที่ จังหวัดสุโขทัยนาทีระทึกน้ำยมซัดบ้านชาวบ้านพังเสียหายทั้งหลัง
พนังแตก น้ำยมหลาก ซัดบ้านพังทั้งหลัง
ภาพระทึกนาทีน้ำยมซัดบ้านของ นางนิตทร อินทรชื่น อายุ 78 ปี อยู่ติดพนังริมแม่น้ำยมที่ขาด ความแรงของน้ำพัดพังต่อหน้าต่อตานางนิตทร เจ้าของบ้าน เคราะห์ดีที่ไม่มีคนได้รับอันตราย เพราะเจ้าหน้าที่ได้อพยพทุกคนออกมาหมดแล้ว แต่ข้าวของในบ้านเสียหายทั้งหมด เหตุเกิด หมู่ 6 ตำบลท่าทอง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ช่วงเย็นวันที่ 28 กันยายน ขณะที่ทางจังหวัดสุโขทัย ได้เร่งให้การช่วยเหลื่อครอบครัวในเบื้องต้นแล้ว
นอกจากบ้านของ นางนิตทรแล้ว เมื่อวันที่ 27 กันยายน บ้านของ นายวัฒนา สิทธิโชค อายุ 45 ปี หลานชายนางนิตทร ถูกน้ำซัดบ้นาพังทั้งหลังเช่นกัน
นายวัฒนา เล่าว่า ก่อนบ้านจะพังทางเจ้าหน้าที่ได้ให้ตนเองย้ายมาอยู่มี่ศูนย์พักพิงชั่วคราว เนื่องจากกระแสน้ำไหลแรงเกรงว่าจะได้รับอันตราย จากนั้นผ่านมาอีกวัน บ้านของตนเองก็ถูกน้ำยมซัดพังทั้งหลัง ตอนนี้มือแปดด้าน ยังไม่รู้จะเอายังไงต่อดี
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ หมู่ที่ 6 ตำบลท่าทอง อำเภอสวรรคโลก พบว่ามีผู้ประสบภัยน้ำท่วมจำนวน 135 ครัวเรือน ในเบื้องต้นได้อพยพกลุ่มเปราะบางไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราววัดท่าทอง จำนวน 18 ครัวเรือน รวม 33 คน
น้ำท่วมสูง ต้องไต่เชือกเข้า-ออกหมู่บ้าน
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนนี้รับน้ำจากทางเหนือจำนวนมาก น้ำเริ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเริ่มเข้าท่วมในหลายพื้นที่ อย่างพื้นที่หมู่ 3 ตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ชาวบ้านเร่งวางแนวเชือกลากเรือระหว่างตัวบ้านกับถนนสายโผงเผง-บางบาล เพื่อใช้ในการเดินทางเข้าออกบ้านที่ถูกน้ำท่วมสูง โดยระดับน้ำเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทำให้ต้องปรับระยะของเส้นเชือกให้พ้นกับระดับของน้ำ
ขณะที่อีกหลายครอบครัวต้องเร่งขนย้ายทรัพยสินที่ถูกน้ำท่วมขึ้นมาไว้ริมถนนเป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันความเสียหาย
ตอนนี้พื้นที่อ่างทองมีน้ำท่วมแล้ว คือ ตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก และ ตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ มีบ้านเรือนได้นับผลกระทบแล้วกว่า 200 หลังคาเรือน
น้ำเจ้าพระยา เริ่มล้นเข้าท่วมพื้นที่ริมฝั่ง
อีกจุดรับน้ำใน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช้าวันนี้มวลน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาไหลมาถึง ส่งผลให้น้ำเสมอแนวตลิ่งเจ้าพระยา ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน โดยที่วัดบุณกันนาวาส อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำไหลเข้าท่วมลานวัดอย่างรวดเร็ว เข้าท่วมเต็มพื้นที่แล้ว
ขณะที่แม่น้ำน้อย ที่ไหลผ่านอำเภอบางไทร สูงอย่างต่อเนื่องเข้าท่วมบในหมู่ที่ 5 ตำบลบางยี่โท ชาวบ้านต้องลุยน้ำเก็บข้าวลงไว้ในที่ปล่อยภัย เพราะน้ำมาเร็วมาก จนต้องเก็บที่นอนหมอนมุ้ง หนุนพื้นไว้ไม่ให้เกิดความเสียหาย
สถานการณ์น้ำเจ้าพระยา เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวานนี้ มีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2. จังหวัดนครสวรรค์ ทรงตัวเท่ากับเมื่อวาน อยู่ที่ปริมาณ 1,934 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ระดับน้ำลดลง 43 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 16 เมตร 4 เซนติเมตร น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่ อำเภอสรรพยา อยู่ที่ระดับ 14 เมตร 19 เซนติเมตร สูงขึ้นจากวันเสาร์ที่ผ่านมา 16 เซนติเมตร
ศปช.เทียบน้ำปีนี้น้อยกว่าปี 2554 เกือบ 10 เท่า
ด้าน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม เผยถึงข้อสรุปเรื่องสำคัญที่เป็นข้อวิตกกังวลของประชาชนพื้นที่ภาคกลาง เรื่องสถานการณ์น้ำระหว่างปี 2567 เมื่อเทียบกับปี 2554 พบว่า จากการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พิจารณาทุกปัจจัยทำให้สถานการณ์น้ำในปี2567 นี้ไม่ซ้ำรอยปี 2554 ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ จำนวนพายุ โดยในปี 2554 พบว่ามีพายุเข้าไทยถึง 5 ลูก เมื่อเทียบกับปี 2567 มีพายุเข้าไทยเพียง 1 ลูกคือ "ซูลิก" ปริมาณฝนสะสม เนื่องจากในปี 2554 ฤดูฝนในประเทศไทยเริ่มต้นเร็วกว่าปกติ และมีปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 24% ขณะที่ปี 2567 ภาพรวมปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติ 2%
ขอบคุณภาพจาก : Facebook Amornrud Lumjiak