14 ราชวิทยาลัยวิชาชีพแพทย์ แถลง ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า
วันที่ 27 พ.ย. 2567 ที่โรมแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการเสวนาสื่อมวลชนและการแถลงข่าว “หมอไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนให้รอดพ้นจากพิษภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า อันจะนำไปสู่การมีสุขภาพและสติปัญญาที่ดีของเยาวชนในการที่จะพัฒนาประเทศชาติต่อไป เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน และลดภาระการรักษาพยาบาลในระบบสาธารณสุขของประเทศ
นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส รองประธานโครงการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ ภายใต้สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า จากสถานการณ์ของการระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน ที่สำรวจพบเด็กและเยาวชนจำนวนมากหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากค่านิยมในกลุ่มเพื่อนและการตลาดล่าเหยื่อที่ดึงดูด เช่น กลิ่นรสที่หลากหลายและรูปลักษณ์ที่น่าเย้ายวน ขอยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารเสพติด ที่มีฤทธิ์ทำร้ายทุกระบบของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชนที่สมองส่วนหน้ายังไม่พัฒนาเต็มที่ ส่งผลต่อพัฒนาการการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ ความจำ สมาธิ การควบคุมอารมณ์และสุขภาพจิต แม้มีหลายประเทศที่อนุญาตให้ขายบุหรี่ได้ แต่ก็มีการออกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเยาวชน หรือจำกัดการโฆษณา เพื่อป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน แต่ยังคงมีช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้เด็กสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้
นพ.วันชาติ กล่าวว่า จากพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าดังกล่าวข้างต้น เนื่องในโอกาสวันแพทย์ไทย 27 พ.ย. ประธานและผู้แทนจาก 14 ราชวิทยาลัยวิชาชีพแพทย์แห่งประเทศไทย จึงร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ ดังนี้
1. พวกเราจะมุ่งมั่นร่วมมือกันสนับสนุนให้ “คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า” โดยขอเรียกร้องให้รัฐสภา “คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อคุ้มครองสุขภาพเด็ก และให้ความสำคัญกับอนาคตของชาติมากกว่าผลกำไรและภาษี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
2.พวกเราทุกราชวิทยาลัย จะร่วมมือกันส่งเสริมให้ “การไม่สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า เป็นค่านิยมดูแลสุขภาพตนเองและผู้อื่น” ทั้งนี้ นอกเหนือจาก “หมอไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” แล้ว พวกเราขอเรียกร้องและเชิญชวนให้คนไทยทุกคนตื่นตัว ออกมาปกป้องลูกหลานของเราเอง โดยใช้ “# คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” เป็นวาระแห่งชาติ สำหรับคนไทยทุกคน จากนี้เป็นต้นไป จนกว่าสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณายืนยันการไม่ให้มีการนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยต่อไป
ศ.นพ.ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาน่าวิตกอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและผู้สูบหน้าใหม่ที่ไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบมาก่อน โดยสาเหตุของการแพร่ระบาดใหญ่คือ
1. การให้ข้อมูลที่บิดเบือนว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย ไม่มีอันตรายใด ๆ จนองค์การอนามัยโลกมีคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2567 ว่า “ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าหยุดโกหกได้แล้ว”
2. การปรุงแต่งกลิ่นรสที่เย้ายวนใจให้เยาวชนและผู้สูบหน้าใหม่ต้องหันมาริลองใช้จนเสพติดในระยะยาว ภายใต้รูปลักษณ์ที่ดูโฉบเฉี่ยว กลิ่นหอม เท่หรู นำสมัย แต่กลับซุกซ่อนโทษภัยไว้มากมาย เพราะนิโคตินในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนิโคตินสังเคราะห์ ทำให้เกิดการระคายคอ ดูดซึมได้มาก และเร็วกว่านิโคตินธรรมชาติ อีกทั้งสามารถเพิ่มระดับได้เป็น 100 เท่าของบุหรี่มวน ไอของบุหรี่ไฟฟ้ายังประกอบด้วยสารเคมีมากถึง 2,000 ชนิดที่ยังไม่เป็นที่รู้จักทางการแพทย์และยังไม่ทราบผลกระทบต่อมนุษย์หากมีการใช้ต่อเนื่อง
รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา ตัวแทนราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ กล่าวเสริมว่า สารเคมีเหล่านี้โดยเฉพาะนิโคตินสามารถดูดซึมเข้าสู่สมองภายใน 7 วินาที จะทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ผนังหลอดเลือด เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจและปอด และกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ทุกระบบของร่างกาย อาทิ
1. โรคหลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่พบได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า
2. เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง ปอดแตกลมรั่วร้อยละ 75 และเกิดปอดอักเสบรุนแรงเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า รวมทั้ง EVALI และปอดข้าวโพดคั่ว
3. เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคเบาหวาน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ได้ถึง 2 เท่าของคนทั่วไป
4. ทำให้หน้าเหี่ยวแก่ก่อนวัย เกิดสิวฝ้า และผื่นแพ้ และฟันเหลือง
5. เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อชนิดต่าง ๆ มากขึ้นถึงร้อยละ 40 ที่สำคัญพบว่าในหนูทดลองที่ได้รับควันบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดมะเร็งปอดได้ถึง 1 ใน 4 ดังนั้น บุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นอันตรายไม่แตกต่างจากบุหรี่มวน และไม่ใช่ทางเลือกในการเลิกบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มุ่งหวังเพียงผลกำไรสู่ผู้ผลิตและผู้ขาย โดยไม่เคยรับผิดชอบต่อพิษภัยและผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นกับผู้สูบเลยแม้แต่น้อย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงขอวิงวอนให้คนไทยอย่าทำร้ายตนเอง อย่าเปิดโอกาสให้แก่ธุรกิจเหล่านี้ นำเอาบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เราหรือลูกหลานของเราตกเป็นเหยื่อหรือหนูทดลองเลย
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กรรมการราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การตลาดล่าเหยื่อของบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าเด็กและเยาวชน ทำให้เกิดวิกฤตการระบาดในเด็กเล็กลงมาถึงระดับประถม ซึ่งเป็นความกังวลของกุมารแพทย์และควรเป็นความกังวลของสังคมไทยด้วย เพราะนอกจากนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจะอันตรายต่อสุขภาพเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่แล้ว ที่แตกต่างคือจะมีผลต่อสมองของเด็กที่กำลังพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์จนถึงอายุ 25 ปี ทำให้ประสิทธิภาพของสมองลดลงถึง 3-4 เท่า นอกจากนี้การทำงานของสมองเด็กยังเรียนรู้ได้เร็วกว่าผู้ใหญ่จึงทำให้เสพติดบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เด็กมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าผู้ใหญ่ ในปริมาณนิโคตินเท่ากันจึงเหมือนกับได้รับมากกว่า รวมทั้งประสิทธิภาพการขับสารพิษยังพัฒนาไม่เทียบเท่าผู้ใหญ่ ที่สำคัญขณะนี้อัตราการเกิดของเด็กลดลงกว่าครึ่ง ในสถานการณ์ที่เด็กเกิดน้อยหากสมองต้องมาถูกทำลายจากบุหรี่ไฟฟ้า ยิ่งจะซ้ำเติมวิกฤตชาติ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จึงขอเรียกร้องคนไทยทุกคนโดยเฉพาะรัฐมีหน้าที่ที่ต้องมุ่งมั่นปกป้องคุ้มครองเด็กจากพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าจากผู้ประกอบการที่จงใจทำการตลาดเพื่อล่าเหยื่อเด็กเป็นลูกค้า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ กรรมการราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ากระตุ้นการหลั่งโดปามีน ทำให้เกิดการเสพติด ยังเป็นประตูนำสู่การสูบบุหรี่มวนและสารเสพติดอื่นเพิ่มขึ้นด้วย การศึกษาแบบ Systematic Review พบความสัมพันธ์ของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นกับปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า สมาธิสั้น ปัญหาทางพฤติกรรม และการทำร้ายตัวเอง สอดคล้องกับการศึกษาภาคตัดขวางจากประเทศไทย ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 10-19 ปี พบว่ากลุ่มเยาวชนที่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยใช้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอาจจะทำให้ปัญหาสุขภาพจิตที่มีอยู่แล้วแย่ลงคล้ายกับการใช้บุหรี่ธรรมดา และกลุ่มผู้สูบบุหรี่ที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มที่จะใช้บุหรี่ไฟฟ้าต่อหลังจากเลิกบุหรี่ได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิต นอกจากนี้ในการศึกษาพบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่มวนมีประสิทธิภาพด้อยกว่าใช้วิธีอื่น
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ จะทำให้สารพิษทั้งนิโคติน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และสารอื่นๆ ถูกส่งผ่านจากมารดาเข้าไปสู่รก ทำให้ทารกในครรภ์ได้รับสารอาหารและก๊าซออกซิเจนไม่เพียงพอ มีโอกาสแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด ทารกเจริญเติบโตช้า (Intrauterine growth retardation) จนถึงตายคลอด (Stillbirth) รวมทั้งรกที่เสื่อมสภาพ ทำให้มีการลอกตัวจากผนังมดลูกก่อนกำหนด รกของสตรีที่สูบบุหรี่มากบางรายสร้างสารพิษออกมากระตุ้นให้เกิด “ครรภ์เป็นพิษ” มีความดันโลหิตสูง บวมทั่วร่างกาย มีการรั่วไหลของสารโปรตีนทางปัสสาวะ ถ้าอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะชัก หลอดเลือดในสมองแตก และเสียชีวิตได้ ในสตรีบางราย สารพิษจากการสูบบุหรี่รบกวนบริเวณยอดมดลูก รกก็จึงไปเกาะที่บริเวณส่วนล่างของมดลูกหรือคลุมปากมดลูกที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงมากกว่าที่เรียกว่า “รกเกาะต่ำ” แทน จะขัดขวางการคลอดของทารกและทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการเสียเลือดมาก ทั้งนี้ จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า ทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะมีขนาดปอดเล็ก มีโอกาสเกิดภาวะหายใจผิดปกติ โรคหอบหืด นอกจากนี้มีการเสียชีวิตด้วยโรคระบบประสาทผิดปกติ หรือพัฒนาการล่าช้า พบโรคสมาธิสั้น ปากแหว่งเพดานโหว่ และโรคไหลตายในทารก (Sudden Infant Death Syndrome : SIDS) สูงกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับบุหรี่ไฟฟ้า
รศ.พญ.วรินี เล็กประเสริฐ ประธานราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันวิสัญญีแพทย์ต้องซักประวัติเรื่องการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด เพื่อผลการผ่าตัดที่ดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และหลังผ่าตัดแนะนำให้งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพราะผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างทั้งในระหว่างและหลังผ่าตัด เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดผลเสียระบบในร่างกาย
1. ระบบสมอง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบ บุหรี่ไฟฟ้าทำลายตัวกั้นกลางระหว่างเลือดและสมอง (blood-brain barrier) ซึ่งถือเป็นตัวป้องกันไม่ให้สารพิษและเชื้อโรคเข้าสู่สมอง
2. ทำให้เกิดการอักเสบของระบบประสาทนำไปสู่โรคทางระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม
3. บุหรี่ไฟฟ้าทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง นำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือด และกล้ามเนื้อหัวใจตาย
4. ระบบทางเดินหายใจและปอด ไอของบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดการอักเสบ ทำให้หอบเหนื่อย มีเสมหะมาก ไอไม่มีประสิทธิภาพหลังผ่าตัด ทำให้การทำงานของปอดบกพร่อง การหายใจล้มเหลว บางรายถอดเครื่องช่วยหายใจหลังผ่าตัดได้ล่าช้า
5. ผลต่อแผลผ่าตัด นิโคตินทำให้หลอดเลือดหดตัวจะทำให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงแผลน้อย แผลผ่าตัดแยก ติดเชื้อที่แผล นอกจากนี้ สารเคมีในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และนิโคตินทำให้ต้องใช้ยาระงับความรู้สึกมากขึ้น ใช้ยาระงับปวดเพิ่มขึ้น ทำให้ยากต่อการจัดขนาดยาที่เหมาะสม
พ.ญ.รินภา ศิริพร ณ ราชสีมา กรรมการบริหารราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพของผู้สูบในด้านต่าง ๆ แต่ยังส่งผลกระทบต่อคนอื่น ๆ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ที่เรียกว่า บุหรี่มือสอง และบุหรี่มือสาม โดยบุหรี่มือสองคือกรณีที่คนรอบข้างที่ได้ควันบุหรี่ขณะอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งเรามีโอกาสหลีกเลี่ยงได้ และมีประกาศเขตพื้นที่ปลอดบุหรี่อย่างขัดเจน แต่ยังมีปัญหาอย่างมากกับคนในครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกับผู้ที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าบิดเบือนว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีควันจึงไม่มีผลกระทบของบุหรี่มือสองและสาม ส่วนบุหรี่มือสาม คือการที่สารพิษของบุหรี่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นอีกปัญหาหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งได้ไม่ต่างจากคนที่สูบบุหรี่ โดยที่คนรอบข้างไม่มีสิทธิ์เลือกและการรับรู้ต่อผลกระทบในด้านนี้ยังน้อย ทำให้ขาดความระมัดระวังทั้งตัวผู้สูบ และผู้ที่อยู่รอบข้าง และคนที่ได้รับผลกระทบทั้งบุหรี่มือสองและมือสามมากที่สุดคือคนในครอบครัวและเด็ก โดยควันบุหรี่สามารถมีสารพิษตกค้างอยู่ในบ้านได้ถึง 6 เดือน และเด็กมีโอกาสได้รับสารพิษมากถึง 2 เท่า
บุหรี่ไฟฟ้ายังมีผลกระทบต่อสังคม ทำให้เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน และเรียนไม่มีประสิทธิภาพ จึงหนีเรียน และเข้าสู่วังวนของยาเสพติดอื่น ๆ ซ้ำเติมปัญหาสังคมของประเทศ ก่อให้เกิดความรุนแรง และอาชญากรรมอื่น ๆ ตามมา ยิ่งสูบมากก็จะยิ่งเจ็บป่วยทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง ประเทศสูญเสียศักยภาพของเยาวชนอนาคตของชาติ สูญเสียทรัพยากรในการรักษาพยาบาลจากเงินภาษีของคนทั้งประเทศ รอนสิทธิ์ของคนส่วนใหญ่ที่ไม่สูบบุหรี่ ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายทรัพยากรของคนทั้งโลก และขัดขวางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติ
ทั้งนี้ 14 ราชวิทยาลัย ประกอบด้วย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์ ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์ และราชวิทยาลัยจักษุแพทย์
ขณะที่เพจดังอย่าง Drama-addict ยังได้ออกความเห็นเรื่องนี้ระบุว่า
ดูข่าวที่ 14 ราชวิทยาลัยประกาศไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า และแถลงจี้ให้รัฐเอาจริงเรื่องนี้แล้ว น่าสนใจตรงเคสที่คุณหมอยกมาเล่าในการเสวนาของงานนี้
เล่าโดย พล.ร.ต.หญิง พญ.สุพิชชา แสงโชติ ผู้แทนราชวิทยากุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ยกเคสตัวอย่างว่า เหตุการณ์เกิดที่อุบล เป็นเด็กหญิงอายุ 11 ขวบ ปรกติป่วยเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่รักษาแล้วและคุมโรคได้ดี สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปรกติ ปรากฏว่าเดือนที่แล้ว จู่ๆน้องเขามีอาการเหนื่อยจนต้องเข้า OCI ปรากฏว่า xray เปรอะมาก คือปอดบวมเละเทะเลย และเป็นลักษณะที่เข้ากับภาวะ EVALI หรือปอดบวมจากสารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งที่ ตปท มีเด็กและวัยรุ่นเป็นกันเยอะมากๆๆๆๆ บางเคสตาย หรือปางตายจนปอดพังไปตลอดชีวิตก็มี
ในภาพข้างล่างเป็นเคสจาก ตปท แต่ภาพ xray ของเคส EVALI จะประมาณนี้ เคสน้อง 11 ขวบคนนี้นี้หมอใส่ท่อช่วยหายใจให้น้องเขา แล้วให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ต่อมาพออาการดีขึ้น ถอดช่วยหายใจได้ พูดได้ น้องเขาก็เล่าให้หมอฟังว่า สูบบุหรี่ไฟฟ้ามาได้ 6 เดือน โดยหาซื้อง่ายมาก ซื้อได้ในซอยแถวบ้าน และสูบอย่างเพลิน เพราะมีหลายสีหลายรส จนสุดท้าย ปอดพัง
คล้ายกับเคสที่เกิดที่ ตปท ซึ่งเป็นเคสเด็ก 10-15 ขวบ หอบเหนื่อยหลังสูบบุหรี่ไฟฟ้าไปซักพัก จนปอดพัง ต่อให้รอดตายมาได้ ก็มีพังผืดในปอด จนไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตปรกติได้เลย ต้องกายภาพบำบัดกันยาวๆ
BUGABOONEWS
ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ , เพจ Drama-addict