คลิปที่เกี่ยวข้อง

สโมสรพรีเมียร์ลีก ร่วมมือกันอย่างไร เพื่อต่อสู้กับ ภาวะโลกร้อน | บ้าบอคอร์บอล EP.97

Podcast EP.97 : สโมสรพรีเมียร์ลีก ร่วมมือกันอย่างไร เพื่อต่อสู้กับ ภาวะโลกร้อน

การประชุม UN Climate Change Conference of the Parties (COP26) มีขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าที่มีคาดการณ์กันเอาไว้ ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นทุกปี มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 30,000 คน ประกอบด้วย ผู้นำระดับโลก ผู้แทนองค์กร ผู้สังเกตการณ์ และนักข่าวจากสำนักต่างๆ มากมาย ในการประชุม เมื่อปี 2015 ที่กรุงปารีส 196 ประเทศ ได้ทำข้อตกลงที่จะร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม หรือที่รู้จักกันในชื่อ ข้อตกลงปารีส 

สำหรับ COP26 ทั้ง 200 ประเทศจะประกาศแผนการลดการปล่อยมลพิษภายในปี 2030 นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับการเลิกใช้ถ่านหิน การเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะไฟฟ้า และคาดว่าจะมีการดำเนินการเพื่อปกป้องธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งสโมสรใน พรีเมียร์ลีก พยายามปรับปรุงให้ตัวเองเป็นสโมสรรักษ์โลกมากขึ้น เพราะบทบาทของวงการกีฬา ในการช่วยลดภาวะโลกร้อน ถูกยกขึ้นมาพูดคุยในการประชุมครั้งล่าสุดด้วย เนื่องจากมีบางสโมสร อย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เดินทางไปแข่งเกมลีกด้วยการนั่งเครื่องบิน แต่ก็ยังมีบางสโมสร เช่น ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ส นั่งรถโค้ชที่ใช้พลังงานทดแทน ซึ่งปล่อยมลพิษน้อยกว่าถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วน ลิเวอร์พูล ตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าสเรือนกระจกลงให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ในอนาคต

พรีเมียร์ลีก ลงนามในกรอบ Sport for Climate Action ของ UN และ Richard Masters ผู้บริหารระดับสูงได้เปิดเผยกับทาง BBC Sport ว่า "เรายังคงทำงานตามกลยุทธ์ของเราในเรื่องความยั่งยืนของสภาพแวดล้อม โดยมองหาวิธีการและแนวทางปฏิบัติที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ละสโมสรได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของพวกเขาในการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในด้านนี้และยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักในประเด็นนี้ในหมู่แฟนบอลด้วย"

ล่าสุดทาง พรีเมียร์ลีก มีการจัดอันดับความเป็นสโมสรที่รักษาสิ่งแวดล้อมได้ดี โดยมี องค์กรสหประชาชาติ และ Sport Positive Summit คอยทำการประเมินมาตั้งแต่ปี 2019 ด้วยการที่ทุกสโมสรจะต้องแสดงหลักฐานการปรับปรุงทีมเพื่อลดโลกร้อน 11 ข้อ แต่ละข้อจะมีคะแนนเต็ม 2 คะแนน รวมทั้งหมดเป็น 24 คะแนน ซึ่งปีล่าสุด สเปอร์ส กับ ลิเวอร์พูล ครองแชมป์ร่วมกัน

สำหรับเกณฑ์การประเมินทั้ง 11 ข้อ ประกอบไปด้วย
- การสื่อสารและการมีส่วนร่วม
- พลังงานสะอาด
- ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
- การขนส่งที่ยั่งยืน
- การลดหรือยกเลิก การใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง
- การจัดการของเสีย
- ประสิทธิภาพการใช้น้ำ
- อาหารจากพืชหรืออาหารคาร์บอนต่ำ
- ความหลากหลายทางชีวภาพ
- การศึกษา
- นโยบายและความมุ่งมั่น

แนวทางการปฏิบัติของแต่ละสโมสร ในการช่วยลดภาวะโลกร้อน หลังจากมีการประชุม COP26

ลิเวอร์พูล และ สเปอร์ส ใช้โซเชี่ยลมีเดียของนักเตะในทีมไปร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อน

ลิเวอร์พูล ปลูกต้นไม้ 900 ต้น ภายในศูนย์ฝึกเยาวชน และพืชผักที่เชฟประจำสโมสรใช้ จะทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่น เพื่อปกป้องสัตว์ คล้ายกับของ สเปอร์ส ที่บ้านพักของนักเตะจะมีการสร้างโรงนา เพื่อเป็นที่อยู่ให้กับค้างคาว และสร้างทางเดินสำหรับสัตว์ในเขตบ้านพักของแขก

สเปอร์ส ยังสำรวจการเดินทางของแฟนบอลเวลามาชมเกมเหย้า และใกล้จะบรรลุเป้าหมายที่ไม่ให้แฟนบอลขับรถมาเองเกิน 23 เปอร์เซ็น แล้ว

อาร์เซน่อล เสนอพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนให้กับแฟนบอล ผ่านตัวแทนที่เน้นการสร้างพลังงานปลอดมลภาวะ

เอฟเวอร์ตัน ตั้งโครงการให้แฟนบอลช่วยกันเสนอแนวคิดรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับทางสโมสร

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตั้งเป้าจะลดการปล่อยมลพิษเป็น 0 ภายในปี 2030 และมีการแนะนำให้ใช้รถร่วมกัน รวมถึงการเลือกใช้รถที่ปล่อยมลพิษน้อยด้วย

เซาแธมป์ตัน จัดโครงการอบรมเกี่ยวกับการใช้จักรยาน เพื่อให้ใช้จักรยานได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น

ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบี้ยน มีการมอบผลิตภัณฑ์สุขอนามัยที่ปราศจากส่วนผสมของพลาสติกให้กับแฟนบอลและนักฟุตบอลหญิงของทีม

นอริช ซิตี้ ใช้พืชผักที่ปลูกเองภายในสโมสรในการทำอาหาร และได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นดูแลโภชนาการให้กับนักเตะด้วยการทำเมนูอาหารจากพืช

เบรท์ฟอร์ด ประกาศใช้ชุดเหย้าแบบเดิม 2 ฤดูกาลติดต่อกัน เพื่อประหยัดเงินแฟนบอล และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

ซึ่งมี 4 สโมสร ประกอบไปด้วย ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ส, ลิเวอร์พูล, เซาแธมป์ตัน และ อาร์เซน่อล มีเป้าหมายจะลดการปล่อยมลพิษลง 50 เปอร์เซ็นภายในปี 2030 และจะลดการปล่อยมลพิษเป็น 0 ภายในปี 2040 นอกจากนั้นทุกสโมสรในพรีเมียร์ลีก จะสนับสนุนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทางมายังสนามของตัวเอง เวลามีการแข่งขันอีกด้วย ส่วนเรื่องเสื้อแข่งขันก็เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะเสื้อฟุตบอลส่วนใหญ่จะผลิตจากโพลีเอสเตอร์ ซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าเสื้อฟุตบอลที่ผลิตมาจากฝ้ายถึงสองเท่า (คาร์บอนไดออกไซด์ 5.5 กก. ต่อเสื้อหนึ่งตัว เทียบกับ 2.1 กก.) แม้แต่โพลีเอสเตอร์ที่สามารถรีไซเคิลก็ยังต้องใช้เวลานานหลายร้อยปีกว่าจะมีการย่อยสลาย

โดยปกติ แฟนบอลก็จะขับรถส่วนตัวไปชมเกมที่สนามแข่งขัน ซื้ออาหารอย่างเบอร์เกอร์เนื้อมารับประธาน ก่อนจะไปรับตั๋วเข้าชมการแข่งขัน และแวะซื้อเสื้อแข่ง ชุดที่สามของสโมสร แต่หลังการประชุมครั้งที่ 26 มติจากการประชุมอาจส่งผลกระทบต่อทุกด้านของชีวิต รวมถึงวงการกีฬาด้วย แฟนบอลทุกคนสามารถช่วยกันลดโลกร้อน และมีส่วนร่วมในการกอบกู้วิกฤติของโลกครั้งนี้ได้ ด้วยวิธีง่ายๆ 4 วิธี ดังนี้ 

1. เดิน ปั่นจักรยาน หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
วิธีที่คุณเดินทางไปดูการแข่งขันฟุตบอล มีผลกระทบอย่างมากต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละวัน หากสามารถเดินหรือปั่นจักรยานไปชมเกมได้ ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อสุขภาพของคุณเอง และสุขภาพของโลกด้วย แต่หากไม่สามารถทำได้แบบนั้น การนั่งรถบัสที่สโมสรจ้างมาอำนวยความสะดวกแฟนบอลในการออกไปเล่นเกมเยือน ก็ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุด

ซึ่งในต่างประเทศ วิธีการเดินทางหลักและดีที่สุดคือการเดินทางด้วยรถไฟ แต่หากจำเป็นจะต้องขับรถไปจริงๆ การนั่งรถรวมกับเพื่อนก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะตามข้อมูลระบุว่า การนั่งรถยนต์ไปด้วยกัน 4 คน จะมีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อคนแล้วน้อยกว่าการนั่งรถบัส รวมไปด้วยกันหลายๆ คนซะอีก ขณะที่วิธีที่เลวร้ายที่สุดในการเดินทาง ก็คือ การนั่งเครื่องบิน เพราะการเดินทางภาคพื้นดินจะส่งผลต่อมลภาวะได้น้อยกว่า แม้จะเดินทางไกลหลายร้อยกิโลเมตรก็ตาม

2. คิดถึงสิ่งที่กิน
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณาเมื่อไปดูการแข่งขันฟุตบอล ก็คือสิ่งที่คุณกิน และวิธีที่คุณกิน ตามรายงานของคณะกรรมการ EAT-Lancet เกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพที่ยั่งยืน การบริโภคผลไม้ ผัก และพืชตระกูลถั่ว ของคนทั่วโลกจะต้องเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าจากปัจจุบัน หากต้องการให้สภาพแวดล้อมของโลกดีขึ้น

เพียงแค่ตัดเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมออกจากอาหารของคุณ ก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึง 2 ใน 3 เลยทีเดียว ดังนั้นอาหารพวกมังสวิรัติ หรืออาหารที่ทำจากพืช ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าหากจะกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ การกินปลา ไก่ หรือหมู ก็จะดีกว่า การกินเนื้อวัวหรือเนื้อแกะ รวมไปถึงการกินอาหารที่หาได้ในท้องถิ่น ก็จะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า การกินอาหารที่ต้องขนส่งมาจากที่ต่างๆ ทั่วประเทศหรือทั่วโลก

3. ไร้กระดาษ
การใช้งานตั๋วแบบดิจิทัล เริ่มแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการลดการสัมผัสกันระหว่างมนุษย์ ในช่วงที่มีการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากสโมสรใดเสนอให้มีการใช้ตั๋วแบบดิจิทัล ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ แทนที่จะใช้งานตั๋วในรูปแบบกระดาษ ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีและสะดวกมากกว่า เพราะตั๋วที่ต้องพิมพ์ออกมา นอกจากจะต้องมีทั้งใบเสร็จรับเงิน และการใส่ซองแล้ว การจัดส่งตั๋วทางไปรษณย์ก็ยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาด้วย ดังนั้น พรีเมียร์ลีก จึงได้สนับสนุนให้ทุกสโมสรใช้นโยบายดิจิทัลเป็นอันดับแรก

ซึ่งในการปดูการแข่งขันฟุตบอลที่สนาม ยังมีแฟนบอลหลายคนที่นิยมซื้อหนังสือแมตช์เดย์ แต่กลับอ่านเพียงแค่นิดหน่อย ก่อนจะเอาไปเก็บใส่ลิ้นชักที่บ้านไว้เฉยๆ ทำให้หลายสโมสรเริ่มมีการทำหนังสือแมตช์เดย์ เวอร์ชั่นดิจิทัลออกมาให้แฟนบอลได้เป็นทางเลือกมากขึ้น ถ้าหากแฟนบอลบางคนได้ซื้อหนังสือแมตช์เดย์แบบเป็นกระดาษมาแล้ว ก็สามารถส่งต่อให้กับพวกนักสะสม หรือนำไป รีไซเคิล ได้ก็จะดีกว่าการไปทิ้งไว่เฉยๆ เพราะจากการคำนวณแล้ว กระดาษทุกๆ หนึ่งตัน (907 กิโลกรัม) ที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่จะทำให้ ต้นไม้ 17 ต้น ได้ถูกอนุรักษ์ไว้ รวมไปถึงประหยัดน้ำมัน 380 แกลลอน (1,727 ลิตร) พื้นที่ฝังกลบ 3 ลูกบาศก์หลา (2.29 ลูกบาศก์เมตร) พลังงาน 4,000 กิโลวัตต์ และน้ำ 7,000 แกลลอน (31,822 ลิตร) เลยทีเดียว

4. อย่าซื้อชุดแข่งใหม่ทุกปี แต่ถ้าหากจะซื้อก็ควรจะใส่ด้วย
กิจกรรมด้านแฟชั่น คิดเป็น 10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทั้งหมดของมนุษย์ และในวงการฟุตบอล แฟนบอลก็มักจะชอบซื้อเสื้อแข่งใหม่ของสโมสร และสำหรับหลายๆ ทีมที่อาจมีการเปิดขายเสื้อแข่งแบบที่สองหรือแบบที่สามแบบทุกปี ดังนั้นอาจถึงเวลาแล้วที่จะจำเป็นจะต้องลดจำนวนการซื้อเสื้อฟุตบอลที่ลง หรืออาจจะกลับใส่เสื้อแข่งของฤดูกาลที่แล้ว หรือเสื้อย้อนยุคที่มีอยู่แล้ว แต่หากคุณซื้อชุดแข่งใหม่ การหลีกเลี่ยงการใส่ชื่อไว้ด้านหลังเสื้อก็จะทำให้สามารถส่งต่อเสื้อดังกล่าวให้กับคนอื่นได้ง่ายขึ้น

และถ้าคุณซื้อมัน คงเป็นการดีที่สุดที่จะสวมใส่มันให้บ่อยขึ้น และไปลดจำนวนเสื้อยืดหรือชุดออกกำลังกายอื่นๆ ที่คุณจะซื้อเพื่อชดเชยแทน และในสหราชอาณาจักร การสวมใส่เสื้อผ้าชุดเดิมต่อไปอีกเพียงแค่เก้าเดือน อาจช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมลงได้ถึง 20-30%

ฟังรายการ บ้าบอคอร์บอล Podcast ได้ทั้ง 2 ช่องทาง
:: คลิกฟังทาง Soundcloud
:: คลิกฟังทาง Spotify

ติดตามรายการ บ้าบอคอร์บอล Podcast ทั้งหมดได้ทั้ง 3 ช่องทาง
:: ติดตามทาง >> Bugaboo.TV
:: ติดตามทาง >> Soundcloud
:: ติดตามทาง >> Spotify

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark