ดราม่าฟุตบอลโลก กาตาร์ กับปัญหาที่ซ่อนไว้ใต้ฉากอันสวยงาม | บ้าบอคอร์บอล EP.102
หลังจากที่ หลุยส์ ฟาน กัล ผู้จัดการทีมชาติเนเธอร์แลนด์ส ออกมาให้สัมภาษณ์โจมตี สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ที่ได้เลือกประเทศกาตาร์ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2022 ว่าสาเหตุเป็นแค่เรื่องของเงินและค่าโฆษณา ที่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับฟีฟาเท่านั้น ขณะที่ แกเร็ธ เซาธ์เกต ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ ก็ได้ออกมาแสดงความรู้สึกไม่สบายใจ หลังจากที่มีแฟนบอลบางส่วนจะไม่เดินทางไปชมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
ซึ่งแม้จะเหลือระยะเวลาอีกเพียงแค่ 8 เดือน ก็จะถึงวันเปิดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 อย่างเป็นทางการ แต่กระแสด้านลบ ที่หลายฝ่ายเป็นกังวล และแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการได้รับสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งนี้ของ ประเทศกาตาร์ โดยมีประเด็นหลักๆ ที่หลายคนยังเป็นห่วงดังนี้
- สภาพอากาศ
ฟุตบอลโลก 2022 ถูกโยกให้ไปจัดแข่งกันในช่วงฤดูหนาว ระหว่าง วันที่ 21 พฤศจิกายน - 18 ธันวาคม เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพอากาศร้อนจัด ในช่วงฤดูร้อนของประเทศกาตาร์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย ได้มีการออกมาเปิดเผยว่า ถ้าหากแข่งขันกันในช่วงฤดูร้อนตามปกติ อุณหภูมิเฉลี่ยในการแข่งขันฟุตบอลโลก ครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 40 องศาเซลเซียส แต่ถ้าหากย้ายมาแข่งขันกันในช่วงฤดูหนาวของทางกาตาร์ อุณหภูมิเฉลี่ยจะลดลงเหลือประมาณ 26 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่สำหรับนักฟุตบอลจากทวีปยุโรปที่คุ้นชินกับอากาศหนาวเย็น ก็ยังถือว่าค่อนข้างร้อน และอาจต้องช่วงพักระหว่างเกม หรือที่เรียกกันว่า คูลลิ่ง เบรก เพื่อให้นักเตะได้พักดื่มน้ำ เหมือนที่เคยถูกนำมาใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล กลับมาใช้อีกครั้งด้วย
นอกจากนั้น เรื่องที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน จะสร้างสนามฟุตบอลติดแอร์เพื่อช่วยเหลือแฟนบอลสำหรับปัญหาอากาศร้อนจัด ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก็อาจไม่สามารถใช้งานได้จริงตามที่ กาตาร์ ได้มีการออกมาประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากระบบสร้างความเย็นดังกล่าวอาจไม่เหมาะกับการนำมาใช้ในสถานที่ขนาดใหญ่และเปิดโล่งแบบสนามฟุตบอล อย่างไรก็ตาม ทาง กาตาร์ ก็ยังได้มีแผนติดตั้งเครื่องปรับอากาศตามสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น แฟนโซน หรือสถานีรถไฟ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแฟนบอล เพิ่มเติมอีกด้วย
- โควิด-19
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด ทำให้แฟนบอล และฝ่ายจัดการแข่งขันยังคงเป็นกังวลอยู่ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประกาศข้อบังคับใดๆ สำหรับแฟนบอลที่จะเดินทางมาเข้าชมการแข่งขัน หรือนักฟุตบอลที่จะลงแข่งขันในครั้งนี้ ว่าจำเป็นจะต้องเข้ารีบการฉีดวัคซีนหรือไม่
โดยก่อนหน้านี้มีรายงานจาก ดิ แอธเลติก สื่อชื่อดังของประเทศอังกฤษ ออกมาว่า ประเทศกาตาร์ เตรียมออกกฎสำหรับนักเตะ และผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่จะมาเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ จำเป็นจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็ม เนื่องจากภายในประเทศกาตาร์เอง มีการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนไปแล้วมากกว่า 82 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศ
นอกจากนั้น ดิ แอธเลติก ยังได้มีรายงานอ้างว่า กาตาร์ ได้พิจารณาทางเลือกอื่นๆ ที่จะนำมาในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 อีกมากมาย เข่น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทุกคนจะต้องมีการตรวจหาเชื้อทุกๆ 3 วัน รวมถึงการนำแอปพลิเคชั่น อย่าง Travel Pass ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) มาใช้งานร่วมด้วย
- ปัญหาแรงงาน
เดอะ การ์เดี้ยนส์ สื่อชื่อดังได้ออกมาเปิดเผยรายงานว่าว่า นับตั้งแต่ที่ ประเทศกาตาร์ ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ในปี 2010 มีแรงงานที่มาช่วยสร้างสนามแข่งขัน เสียชีวิตสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการระบุตัวเลขว่า ตอนนี้มีแรงงานเสียชีวิตสูงกว่า 6,500 คน เลยทีเดียว
โดยสาเหตุที่ทำให้แรงงานจำนวนมากเสียชีวิต มาจากหลากหลายเหตุผล มีการอ้างว่า แรงงานบางคนถูกบังคับให้ทำงานหนัก ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด บางครั้งอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว นอกจากนั้น ยังมีแรงงานบางคนที่ถูกกดค่าแรง และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดได้ เนื่องจากถูกยึดพาสปอร์ตเอาไว้นั่นเอง นอกจากนั้น ยังมีการแฉว่า นายจ้างในกาตาร์ได้จ่ายค่าจ้างให้กับแรงงาน ในจำนวนที่ไม่เหมาะสมกับค่าครองชีพในประเทศ จนทางรัฐบาลของประเทศกาตาร์เอง ต้องเข้ามาสะสางปัญหานี้เองอีกด้วย
- สิทธิของสตรี และกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
เนื่องจากการรักร่วมเพศถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศกาตาร์ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิของสตรี ทำให้แฟนบอลจำนวนมากมีความกังวลกับการเดินทางไปชมการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ซึ่งทางประเทศกาตาร์ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้มาตลอดนับตั้งแต่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพเมื่อ 12 ปีก่อน ก็มีการปรับเปลี่ยนให้เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่มีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาตลอด และทาง จอยซ์ คุก ประธานฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคมและการศึกษาของฟีฟ่า ก็ได้ออกยืนยันว่า เจ้าภาพกาตาร์ อนุญาตให้สามารถแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ ของเพศทางเลือกในสนามแข่งขันได้ แต่ก็ยังมีความกังวลเกิดขึ้นกับผู้เกี่ยวข้องอยู่ นำโดย จอช คาวาโย่ นักฟุตบอลชาวออสเตรเลีย ที่เคยออกมาประกาศว่าตัวเองเป็นเกย์ ได้ให้สัมภาษณ์แสดงจุดยืนอย่างชัดเขนว่า จะไม่เดินทางไปประเทศกาตาร์ อย่างแน่นอน เนื่องจากกังวลเรื่องบทลงโทษดังกล่าว
- จำนวนห้องพัก
กาตาร์เป็นประเทศที่มีพื้นที่ประมาณ 11,581 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับ จังหวัดเชียงราย ของประเทศไทย ทำให้เกิดความกังวลว่า หากแฟนบอลจากทั่วโลกเดินทางไปชมการแข่งขันในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าอาจมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน อาจเกิดปัญหาห้องพักที่มีอยู่แค่ประมาณ 130,000 ห้อง จะไม่สามารถรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวได้อย่างเพียงพอ
โดยทาง กาตาร์ พยายามแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการเลือกสร้างโรงแรมเพิ่มอีก 1,616 ห้อง โดยใช้เรือสำราญ มากถึง 16 ลำ แปลงสภาพมาเป็นโรงแรมลอยน้ำ ซึ่งเรือแต่ละลำมีสามารถเพิ่มห้องพักให้กับแฟนบอลได้ลำละ 101 ห้อง รวมถึงโครงการที่ทางเจ้าภาพ เตรียมจะจัดทำ แฟน วิลเลจ ด้วยการตั้งเต็นท์สไตล์อาหรับมากกว่า 2,000 หลัง เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับแฟนบอลในการเข้าพักอาศัยช่วงฟุตบอลโลกอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางการของ กาตาร์ จะมีการออกโครงการต่างๆ มามากมาย ทั้งโปรเจคท์อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ทั้งโรงแรมที่เป็นเรือสำราญ, บ้านเช่า และอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าต่างๆ แต่ทั้งหมดก็อาจจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของแฟนบอลก็เป็นได้
ฟังรายการ บ้าบอคอร์บอล Podcast ได้ทั้ง 2 ช่องทาง
:: คลิกฟังทาง Soundcloud
:: คลิกฟังทาง Spotify
ติดตามรายการ บ้าบอคอร์บอล Podcast ทั้งหมดได้ทั้ง 3 ช่องทาง
:: ติดตามทาง >> Bugaboo.TV
:: ติดตามทาง >> Soundcloud
:: ติดตามทาง >> Spotify