เงินทองของจริง

รู้จัก งบดุล ก่อนจดทะเบียนบริษัท คิดให้ดีก่อนเริ่มลงทุน

เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็อยากเป็นนายตัวเองกันทั้งนั้น เมื่อพูดถึงการเป็นเจ้าของกิจการ เรื่องที่หนีไม่พ้นก็คือการจดทะเบียนบริษัท มีความจำเป็นและมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ?

มีหลายคนที่เริ่มต้นทำธุรกิจในนามส่วนตัว และส่วนใหญ่มาถึงจุดหนึ่งที่เกิดความสนใจจดทะเบียนเป็นบริษัท อาจจะด้วยเหตุผล 3 ประการ ดังนี้

1. รายได้ที่มากขึ้น ทำให้รูปแบบการชำระภาษีของธุรกิจบุคคลธรรมดาจัดการได้ยากขึ้น จึงอาจเปลี่ยนเป็นในนามบริษัท ซึ่งจะทำให้การจัดการเอกสารต่าง ๆ เป็นไปได้ง่าย

2. รูปแบบภาษี เช่น หากขายดี จะมีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ต้องเสียภาษีส่วนนี้หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ซึ่งหากมีการจดทะเบียนบริษัท มีบริษัทบัญชีมาช่วยดูแล ก็จะทำให้เอกสารต่าง ๆ มีความถูกต้อง ไม่ผิดพลาด

3. ภาพลักษณ์ เช่น เปรียบเทียบระหว่างบุคคลธรรมดากับบริษัท หากไปติดต่อธุรกิจกับบริษัทห้างร้านใหญ่ ๆ ก็อาจจะมีมุมมองความน่าเชื่อถือที่ต่างกัน รวมไปถึงขอบเขตความรับผิดชอบที่สามารถทำได้ด้วย

นอกจาก 3 เหตุผลแล้ว ก่อนเปิดบริษัท มีคำศัพท์อยู่หนึ่งคำที่ควรรู้อย่างคำว่า "งบดุล" หมายถึง งบแสดงสถานะทางการเงิน ซึ่งมีโครงสร้าง 2 ส่วน โดยส่วนแรก คือ สินทรัพย์ หรือ ทรัพย์สินที่อยู่ในกิจการ หากเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน เช่น เงินสด สินค้าคงคลัง หรือลูกหนี้การค้า หากเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน คือ สินทรัพย์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว ๆ เช่น ที่ดิน เป็นต้น ส่วนที่ 2 คือ หนี้สินและส่วนของเจ้าของ คือ ส่วนที่บ่งบอกภาระหนี้ โดยหนี้ที่มีภาระจ่ายภายใน 1 ปีเรียกว่าหนี้สินหมุนเวียน และหากเป็นหนี้ที่ไม่ต้องจ่ายภายใน 1 ปีเรียกว่าหนี้สินระยะยาว

คำแนะนำเพิ่มเติม สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากจะเปิดบริษัท เรื่องแรก คือ การจัดการด้านการเงินและภาษี เพราะเจ้าของกิจการส่วนใหญ่มักจะให้เวลากับการตลาดมากกว่าเรื่องการเงินและภาษี ทั้ง ๆ ที่เป็นปัจจัยที่จะล้มคว่ำธุรกิจได้ ดังนั้น เรื่องเอกสารทางการเงินต่าง ๆ ควรจะมีเจ้าหน้าที่มาดูแลและจัดทำให้ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเจ้าของกิจการมาก ๆ โดยมี งบ 3 ตัวที่ต้องดู คือ งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องให้ความสำคัญอยู่ตลิดเวลา รวมไปถึงภาระหน้าที่ต่าง ๆ เช่น ในแต่ละเดือนต้องส่งข้อมูลให้สรรพากร และเมื่อถึงกำหนดก็ต้องมีการยื่นภาษีให้ถูกต้องด้วย

หลาย ๆ บริษัทที่ดำเนินกิจการไปได้ด้วยดี แต่สุดท้ายต้องจบลงเพราะการจ่ายภาษีที่ไม่ถูกต้อง การทำบัญชีไม่ถูกต้อง สะสมไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายถูกเก็บภาษีย้อนหลังในจำนวนที่มากจนถึงขั้นปิดกิจการได้เลย ซึ่งวิธีการที่จะทำให้จัดการเอกสารต่าง ๆ ได้อย่างมีระบบระเบียบ คือการจ้างบริษัทบัญชีให้เข้ามาดูแล ที่มีวิธีการเลือกจากความน่าเชื่อถือ โดยอาจจะดูรายชื่อบริษัทลูกค้าที่บริษัทบัญชีนั้น ๆ ช่วยดูแลอยู่เพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้ และอีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของ ราคา และการทำสัญญาต่าง ๆ ที่ต้องเช็กให้ดูและหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอด้วย

พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน สนามข่าว 7 สี ช่วง "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05 - 9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark