คลิปที่เกี่ยวข้อง

ยะลา - นราธิวาส ก่อนตายต้องไปให้ได้สักครั้ง !!!

ยะลา - นราธิวาส ก่อนตายต้องไปให้ได้สักครั้ง !!!


 
             เชื่อว่าหลายคนที่ได้ยินชื่อ3จังหวัดชายแดนใต้ คงต้องมีคำถามในใจผุดขึ้นมา หลัก ๆ เลยคือเรื่องความปลอดภัย รวมถึงข่าวการรอบวางระเบิดต่าง ๆ  เหตุการณ์รุงแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ไม่คิดอยากไปเยือน และท่องเที่ยวทำความรู้จักสักเท่าไหร่ ผมเองก็เคยมีความรู้สึกนั้น  แต่ลึกในใจก็อยากลองออกไปสัมผัสให้รู้จริงสักครั้งว่าจะน่ากลัวหรือรุนแรงเหมือนที่เคยรับรู้มารึเปล่า? ผมจึงไม่ลังเลที่จะตบเท้าเข้าร่วมทริปเปิดเส้นทางเที่ยวเมืองรองชายแดนใต้กับ ททท. เพื่อจะเข้าไปสัมผัสมนต์เสน่ห์ของพื้นที่ปลายด้ามขวานไทย  โดยหวังใจไว้ว่ากำแพงแห่งความกลัวจะทลายลงหลังจากจบทริปยะลา-นราทิวาส ทริปนี้


           จุดหมายแรกที่ จ.ยะลา ผมแนะนำให้ แวะ check in กันที่ “Brid City Street Art” สถานที่แห่งนี้หลบมุมอยู่บริเวณชุมชน ย่านประชานุกูล ถนนนวลสกุล อำเภอเมือง จ.ยะลา  คนที่รักการถ่ายรูปจะได้มาถ่ายรูปสวยๆและได้ชื่นชมกับสตรีทอาร์ทมากมาย สมกับสโลแกนของที่นี่  “เสพศิลป์ ถิ่นบินหลา”  เรื่องราว ความรักความอบอุ่น รวมถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม สะท้อนเด่นชัดผ่านงาน ศิลป์สไตล์graffiti บนผนังบ้าน  โดยผลงานที่โดดเด่น นั้นก็คือ “น้องมาดี” เด็ก 3 ตา นอนกอดตัวเองกับนกหลับตายิ้มอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นผลงานของ คุณพัชรพล แตงรื่น หรือ Alex face (BKK)  นักท่องเที่ยวสามารถตามไปถ่ายรูปได้ทุกวัน พร้อมสัมผัสวิถีชีวิตที่เรียบง่าย รวมถึงรอยยิ้มของที่น่ารักจากพี่น้องชาวยะลา ที่พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนทุกคน     (https://goo.gl/maps/26EoGacQDTyTg3NY7)


 
            จบจากที่ Hip Hip ก็มุ่งหน้าไปสัมผัสกับเรื่องราวแห่งตำนาน  “กริชรามันห์”  ที่ พิพิธภัณฑ์บ้านตะโละหะลอ  อ.รามัน จ.ยะลา สถานที่ ที่ยังคงสืบสานวัฒนธรรมการ ตีกริชรามันห์มาอย่างยาวนานกว่า  30 ปี  ครูตีพะลี อะตะบู ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2562 ประเภทเครื่องโลหะ เข้ามาพูดคุยบอกเล่าถึงจิตวิญญาณแห่ง การตีกริชรามันห์ และการสร้างเอกกลักษณ์เฉพาะตัวที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ อย่างออกรส  สีหน้า แววตา และเรื่องราวจากบทสนธนาต่างๆที่เกิดขึ้น ทำให้ผมรู้สึกถึงความภูมิใจในวิชาการตีกริชรามันห์ที่ถ่ายทอดมารุ่นสู่รุ่น  โดยมีแก่นหลักในการยึดมั่นจรรยาบรรณอย่างเคร่งครัด จึงทำให้ การตีกริชรามันห์ ยังคงทรงคุณค่าเป็นมรดกสืบทอดทางวัฒนธรรมต่อไป

          นอกจากการได้ความรู้ถึงประวัติศาสตร์การตีกริชรามันห์แล้ว ผมยังโชคดีได้ชมศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวไทยมุสลิม กับการร่ายรำที่สะท้อนลวดลายแห่งกริชรามันห์ จาก คุณซุลฟาการ์ อะตะบู เป็นการส่งท้ายก่อนที่เราจะโบกมืออำลา จ.ยะลาแล้วมุ่งหน้า เมืองที่มีมนต์เสน่ห์ อย่าง สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ต่อไป (https://goo.gl/maps/xjpT2p7v2zfMcFuUA)


          บรรยากาศเมือง สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส อบอุ่น แบบวิถีคนต่างจังหวัด คนไทยพุทธ และไทยมุสลิม  อยู่ร่วมกันอย่างสงบ  พระสงฆ์ออกบิณฑบาตรตอนเช้า ชาวบ้านออกมาทำบุญตามปกติ  ภาพการวิถีชีวิตสบายๆของชาวบ้านส่งผลให้เมืองเล็กๆแห่งนี้มีเสน่ห์ในแบบฉบับของตนเอง   สิ่งแรกที่ทำเมื่อมาถึง เมืองสุไหงโก-ลก เราแวะเติมพลังกันที่ร้าน “อ้วนบะกุ๊ดเต๋” ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง ร้านนี้เป็นร้านชื่อดังที่อยากให้ทุกคนมาลิ้มลอง รสชาติของบะกุ๊ดเต๋ ที่กลมกล่อม  เครื่องยาจีนต่าง ๆ ถูกปรุงออกมาได้อย่างลงตัว กลิ่นหอม ตัวเนื้อก็ตุ๋มได้ออกมานุ่มนวล (https://goo.gl/maps/mw4jmwL2WuAjuQmw6)

        หลังจากเติมพลังกันเรียบร้อยแล้วก็มุ่งหน้าไปสู่จุดหมายต่อไป นั้นก็คือ Street Art แห่งเมืองสุไหงโก-ลก สังเกตได้ว่า ณ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้แห่งนี้ ศิลปะแบบ Street Art ได้ทำหน้าที่สะท้อนวิถีชีวิตออกมาอย่างน่าสนใจ ทำให้ผู้มาเยือนอย่างเรา หยุดคิดและตั้งคำถามถึงเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ด้ามขวานได้อย่างลึกซึ้ง  และเข้าอกเข้าใจความเป็นไปได้มากขึ้น (https://goo.gl/maps/2nzk4hSUnd11ePxU6)

       อีกหนึ่งสิ่งน่าสนใจนอกจาก งาน Street Art นั้นก็คือ สถานีรถไฟสถานีสุดท้ายของประเทศไทย อย่างสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก (https://goo.gl/maps/BgqEomVRXDwXwtPB6)  ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดที่เราแวะ Check in ถ่ายรูป ที่นั่นเราจะได้สัมผัสกับชาวบ้านที่เดินทางด้วยรถไฟ  มีรอยยิ้ม และการต้อนรับเป็นอย่างดี  ทุกคนที่พบเจอต่างก็เข้ามาทักทายพูดคุยกับเราด้วยความอบอุ่น  และสังเกตุได้ว่าบางครอบครัวก็นั่งรถไฟพากันไปเที่ยวที่จ.ยะลา สะท้อนให้เห็นว่า พี่น้อง สามจังหวัดชายแดนใต้ยังคง ใช้ชีวิตตามปกติ เดินทางท่องเที่ยวไปมาหาสู่กันอย่างไร้กังวล   ทำให้กำแพงความกลัวที่ผมเคยมีต่อจังหวัดชายแดนใต้ทลายลง 


 
      และแล้วเราก็ต้องโบกมือลาความประทับใจจากที่นี่ มุ่งหน้า อีกหนึ่งพื้นที่ชายแดนใต้กันต่อ ด้วยภาระกิจ ร่อนทอง ร่องแก่ง และ สัมผัสกับรสชาติของทุเรียนใต้แท้ ๆ กัน กับชุมชนภูเขาทอง หรืออีสานแดนใต้ ที่เดียวที่ยังคงประเพณี บุญบั้งไฟ ในภาคใต้ของประเทศไทย


 
      มาถึงอำเภอสุคิริน ท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีหมู่บ้านชาวอีสานที่ซ่อนตัวห่างไกลจากความวุ่นวาย  ที่นี่ยังคงไว้ซึ่งการดำรงวิถีชุมชนแบบชาวอีสานดั้งเดิม  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานที่ดินทำกินให้พี่น้องชาวอีสานได้มาตั้งรกรากที่ภาคใต้ปลายด้ามขวานแห่งนี้ เป็นเวลากว่า 70 ปี แล้ว  ชุมชนบ้านภูเขาทอง ได้มาทำกินในพื้นที่นี้ โดยสร้างอัตลักษณ์และวิถีชุมชนได้อย่างน่าสนใจ รวมถึงมีกิจกรรมต่างๆที่พร้อมตอนรับนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสกับประสบการณ์ที่สุดแสนประทับใจ  เช่น การล่องแก่ง และการร่อนทองแบบโบราณ พร้อมกับการไปชม ต้นกะพง ต้นไม้ยักษ์ใหญ่ ที่ยืนต้นมายาวนานกว่า 100 ปี ต้องบอกว่า บ้านภูเขาทอง จังหวัดนราธิวาส ต้องมาลองเที่ยวดูสักครั้ง (https://goo.gl/maps/ESYTxtzjtPqQUJ8b7)



     ปิดท้ายการเดินทางครั้งนี้กับการเยี่ยมชมหอศิลปะวัฒนธรรม และ พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส ซึ่งทำให้เข้าใจประวัติความเป็นมาของจังหวัดนี้รวมไปถึงได้เห็น วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องที่ต่อเรือกอและ  เรือที่เป็นอัตลักษณ์สำคัญสะท้อนจิตวิญญาณของชาวประมง ให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน  


 
ทั้งหมดนี้อยากให้ลองมาสัมผัสด้วยตนเอง อย่ากลัวกับสิ่งที่เคยได้ยิน ออกมาเที่ยว 3 จังหวัดชายแดนใต้  ใช้การท่องเที่ยวทลายกำแพงแห่งความหวาดกลัว วัฒนธรรมที่งดงาม ธรรมชาติที่สมบูรณ์ และรอยยิ้ม รอคุณอยู่ ที่ปลายด้ามขวานนะครับ

ติดตาม ปาเตี้ยว ได้ที่ FACEBOOK : https://www.facebook.com/P4tiew/

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark