ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

คณะทำงานอัยการชี้ เอาผิด บอส อยู่วิทยา ได้ จากผลสอบความเร็วรถ-โคเคนในเลือด

เช้านี้ที่หมอชิต - คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาคดี "บอส อยู่วิทยา" สำนักงานอัยการสูงสุด ระบุพบสำนวนของตำรวจ ยังมีหลักฐานสำคัญที่ไม่นำมาใส่ในสำนวน ทั้งเรื่องโคเคนในเลือด และการคำนวณความเร็วรถของอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นประเด็นที่จะเสนอเป็นหลักฐานใหม่ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อได้

ในการแถลงผลตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานตรวจสอบ กรณีคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ในคดีขับรถชนดาบตำรวจ วิเชียร กลั่นประเสริฐ เมื่อปี 2555

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ย้อนกลับไปถึงการทำงานระหว่างอัยการและตำรวจที่รับผิดชอบคดีนี้ว่า จากสำนวนที่ตำรวจสรุปเสนอให้กับอัยการตั้งแต่แรก พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง บอส อยู่วิทยา ใน 3 ข้อหา คือ ขับรถประมาท เป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ขับรถประมาท เป็นเหตุให้ชนรถอื่นเสียหาย, หลบหนีไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ และไม่แจ้งเจ้าหน้าที่

ส่วนอีก 2 ข้อหา พนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง คือ ข้อหาขับรถขณะเมาสุรา เป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งข้อหานี้อัยการมีความเห็นพ้องตาม แต่ข้อหาขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด อัยการมีความเห็นแย้งตั้งแต่แรกแล้ว

ต่อมา บอส อยู่วิทยา ไม่มาพบอัยการตามนัด ทำให้ไม่สามารถยื่นฟ้องได้ จนหลายข้อหาขาดอายุความ และผู้ต้องหามีความพยายามในการร้องขอความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัยการแจ้งให้ตำรวจนำตัวผู้ต้องหามาให้อัยการนำยื่นฟ้องต่อศาล จนกระทั่งนำไปสู่การออกหมายจับ แต่ก็ไม่ได้ตัว

ส่วนการตรวจสอบของคณะทำงานแบ่งเป็น 3 ประเด็นสำคัญ คือ ตรวจสอบว่าการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีของรองอัยการสูงสุด เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่, รองอัยการสูงสุดผู้สั่งไม่ฟ้องคดี มีเหตุผลในการพิจารณาอย่างไร และข้อเสนอแนะของคณะทำงานเกี่ยวกับคดี และทางออกที่จะเสนอต่ออัยการสูงสุด

ซึ่งประเด็นแรกและประเด็นที่ 2 เรื่องหน้าที่ของรองอัยการสูงสุด คณะทำงานพิจารณาว่า นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ซึ่งทำหน้าที่เสนอคำสั่งไม่ฟ้องคดี ทำหน้าที่อยู่ภายใต้กรอบระเบียบที่ทำได้ ส่วนการร้องขอความเป็นธรรมของ บอส อยู่วิทยา ก็ทำได้ตามกฎหมาย โดยนายเนตรพิจารณาจากสำนวนของตำรวจ ที่ไม่ได้นำพยานหลักฐานนอกสำนวนมาสั่งคดี หรือใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ และหลังมีคำสั่งก็ได้เสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณาแล้ว และตำรวจก็มีความเห็นตรงกัน การทำหน้าที่ของนายเนตรจึงเป็นตามกฎหมาย

ส่วนประเด็นที่ 3 ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคดี คณะทำงานยืนยันว่า แม้อัยการจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคดีนี้ถึงที่สุด เพราะหากพบพยานหลักฐานใหม่ที่จะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้ ก็สามารถสอบสวนได้ คณะทำงานจึงมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ประเด็น

ประเด็นแรกคือ คณะทำงานพบพยานหลักฐานใหม่สำคัญ จากการคำนวณความเร็วรถเฟอร์รารี่ของ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ยืนยันผลการคำนวณความเร็วรถเฟอร์รารี่ประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

โดย ดร.สธน เคยเป็นที่ปรึกษาของตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งลงพื้นที่ตรวจสอบตั้งแต่วันเกิดเหตุ ทั้งในส่วนกล้องวงจรปิดและที่เกิดเหตุ จนมีการทำรายงานออกมา แต่คณะทำงานพบว่าทั้งวิธีการคำนวณและคำให้การของ ดร.สธน ไม่เคยถูกใส่อยู่ในสำนวนของตำรวจ มีเพียงรายงานของพันตำรวจโท ธนสิทธิ แตงจั่น ที่ร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุ เป็นแค่กระดาษแผ่นเดียว ไม่มีวิธีการคำนวณหรืออ้างอิง และต่อมาพันตำรวจโทธนสิทธิ ก็เปลี่ยนคำให้การเรื่องความเร็วเหลือประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

และยังมีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญอีกคนคือ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม การจราจรและขนส่ง ที่ให้ความเห็นทางวิชาการว่าจากการคำนวณหาความเร็วรถเฟอร์รารี่น่าจะไม่ต่ำกว่า 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งหมดจึงถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่จะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้ คณะทำงานจึงจะเสนออัยการสูงสุด พิจารณาแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป ภายในอายุความเหลือที่อีก 7 ปี

ส่วนประเด็นยาเสพติด คณะทำงานพบว่าในสำนวนของตำรวจ มีการตรวจเลือด บอส อยู่วิทยา ในวันเกิดเหตุ และพบสารประเภทโคเคนในเลือด แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหาเสพยาเสพติด เนื่องจากมีการไปสอบสวนผู้เชี่ยวชาญและแพทย์ต่อ ซึ่งให้ความเห็นว่าอาจเป็นผลมาจากการเสพโคเคน หรือการใช้ยาแก้ปวด หรือยาปฏิชีวนะ ตำรวจจึงไม่ได้ให้น้ำหนัก ซึ่งคดีนี้มีอัตราโทษจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี และมีอายุความ 10 ปี จึงมีความเห็นเสนออัยการสูงสุดให้แจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีนี้เพิ่มเติม

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark