ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

นักดาราศาสตร์ เผยพบหลักฐานบ่งชี้ มีสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์ ดาวเคราะห์คู่แฝดกับโลก

เช้านี้ที่หมอชิต - สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ หรือ สดร. เผย นักดาราศาสตร์จากสหราชอาณาจักร พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์

เพจเฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยเมื่อคืนที่ผ่านมา (14 ก.ย.) ว่าทีมนักดาราศาสตร์จาก Cardiff University ในสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า ค้นพบโมเลกุลของฟอสฟีน ซึ่งอาจจะบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นจาก สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์

ซึ่งดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์ที่ได้ชื่อว่าเป็นคู่แฝดกับโลก เพราะมีทั้งขนาดและระยะห่างจากดวงอาทิตย์ที่ใกล้เคียงกับโลกมากที่สุด แม้ว่าดาวศุกร์จะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์กว่าโลกเพียงร้อยละ 30 แต่สภาวะเรือนกระจก ทำให้ดาวศุกร์มีชั้นบรรยากาศที่หนาแน่น และเก็บกักความร้อนไว้มหาศาล จนมีสภาวะอุณหภูมิพื้นผิวร้อนพอที่จะหลอมตะกั่วได้

ซึ่งในชั้นบรรยากาศยังเต็มไปด้วยก๊าซของกรดกำมะถัน แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่ครั้งหนึ่งดาวศุกร์อาจเคยมีมหาสมุทร และมีสภาพอากาศที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากกว่านี้ ก่อนที่ก๊าซเรือนกระจกจะทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกแบบกู่ไม่กลับ และกลายเป็นดาวเคราะห์ที่ร้อนมากที่สุดในทุกวันนี้

แต่ชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นไปราว 50 กิโลเมตร เหนือพื้นผิวดาวศุกร์นั้น กลับมีสภาพอากาศที่อ่อนโยน มีอุณหภูมิเพียง 30 องศาเซลเซียส และอาจจะมีสภาพที่พอเหมาะกับสิ่งมีชีวิตได้ คาดการณ์กันว่าชั้นเมฆในบรรยากาศของดาวศุกร์ อาจจะมีองค์ประกอบทางเคมีเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาที่นำไปสู่การกำเนิดของสิ่งมีชีวิต

สำนักข่าวเอพี รายงานว่า กล้องโทรทรรศน์ 2 แห่งในรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศชิลี จับภาพเมฆหมอกหนาทึบ ที่ประกอบด้วยแก๊สฟอสฟีน แก๊สพิษที่เกี่ยวข้องกับสิ่งชีวิตบนโลก ติดไฟ โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ต้องอาศัยออกซิเจน หรือเกิดจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม และเคยเป็นส่วนประกอบของอาวุธเคมีในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งฟอสฟีนถูกพบในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างเห็นด้วยว่าฟอสฟีนที่พบในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ เป็นสัญญาณว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่ แต่ขณะนี้ยังห่างไกลจากข้อพิสูจน์ว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวดวงอื่น เพราะดาวศุกร์เป็นดาวที่มีอุณหภูมิสูงมากถึง 425 องศาเซลเซียส

นักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบันเอ็มไอที ผู้ร่วมงานวิจัยนี้ เปิดเผยว่า คณะนักวิจัยได้ศึกษาอย่างละเอียดถึงความเป็นไปได้ของทุกปัจจัยที่ทำให้เกิดแก๊สฟอสฟีน ไม่ว่าจะเป็นภูเขาไฟ ฟ้าผ่า หรืออุกกาบาตตกลงไปในชั้นบรรยากาศ แต่ทั้งหมดล้วนไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดฟอสฟีน ซึ่งขณะนี้คาดว่าไม่น่าจะใช่กระบวนการใดกระบวนการเดียวที่ทำให้เกิดฟอสฟีนได้ในปริมาณระดับนั้น ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ได้

ซึ่งต้นตอของฟอสฟีน น่าจะเป็นเคมีที่นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้จักมาก่อน หรืออาจเกิดจากสิ่งมีชีวิตบางอย่างในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์

ขอบคุณภาพจาก : Facebook NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark