ข่าวในหมวด ประเด็นเด็ด 7 สี

บุกทลาย ศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน รวบยกแก๊ง หลอกขายพระสมเด็จ - อ้างบรรพบุรุษเป็นช่างหลวงแกะพิมพ์

ประเด็นเด็ด 7 สี - ตำรวจจับผู้ต้องหา 3 คน ปลอมพระสมเด็จ และภาพถ่ายโบราณ อ้างตัวเป็นลูกหลานของช่างหลวงในราชสำนัก ผู้แกะพิมพ์พระสมเด็จ จัดตั้งศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน มานาน 5 ปี ตรวจค้นพบของกลางจำนวนมาก คาดมีผู้เสียหายมากกว่า 10,000 คน ติดตามจากรายงาน คุณไพจิตร ภานนท์

นี่เป็นบทสัมภาษณ์นายธรรมยุทธ์ เจนพิชิตกุลชัย หรือ อาจารย์ยอด เจ้าของศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน จังหวัดสงขลา จากคลิปวิดีโอที่ถูกนำมาโพสต์ลงในโซเชียล อ้างว่า บรรพบุรุษเป็นช่างหลวงในราชสำนัก ผู้แกะพิมพ์พระสมเด็จพุฒาจารย์โต ซึ่งในคลิปมีการพาชมโดยรอบศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน ที่เต็มไปด้วยพระสมเด็จพุฒาจารย์โต กว่า 500,000 องค์ แม่พิมพ์ผลิตพระสมเด็จ จำนวน 30,000-40,000 เครื่อง

นอกจากนี้ ภายใน ศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน ยังมีการนำวัตถุโบราณจำพวกหยก เสื้อผ้าโบราณ และของมีค่าในสมัยราชวงศ์ชิง ของประเทศจีน มาจัดแสดงโชว์ อ้างว่าเป็นสมบัติของครอบครัวมารดาที่ขนมาจากประเทศจีน ก่อนเข้ามาอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์แห่งนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 ก่อนจะถูกตำรวจกองกำกับการ 6 กองบังคับการปราบปรามนำหมายศาล เข้าตรวจค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมจับนายธรรมยุทธ์ เจ้าของศูนย์ดังกล่าว ที่มีพฤติกรรมหลอกลวง และฉ้อโกงประชาชน

นายธรรมยุทธ์ อ้างตัวเป็นเหลนรุ่นที่ 6 ของหลวงวิจารณ์ เจียรนัย ช่างหลวงในราชสำนัก ผู้แกะพิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังให้กับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี นำภาพถ่ายโบราณหลวงวิจารณ์ เจียรนัย มาจัดแสดงในศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน พร้อมเผยแพร่คลิปวิดีโอลงโซเชียล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่แท้จริงแล้ว บุคคลดังกล่าวไม่ได้มีตัวตนตามที่กล่าวอ้าง

ขณะเดียวกันตำรวจยังจับนายสุขธรรม ปานศรี หรือ "เฮียกุ่ย รัชดา" และนายไตรเทพ ไกรงู ซึ่งปรากฏในคลิปวิดีโอ ที่ร่วมสร้างเรื่องราว และเป็นผู้นำคลิปมาเผยแพร่ โดยทั้ง 2 คน เป็นผู้ที่อยู่ในวงการพระเครื่อง ทำให้มีความน่าเชื่อถือ และสามารถสร้างมูลค่าให้กับพระเครื่อง เพื่อหลอกเก็บเงินค่าเข้าชม พร้อมทั้งหลอกจำหน่ายวัตถุโบราณต่าง ๆ

จากการตรวจค้น สามารถยึดของกลาง 66 รายการ มีทั้งรูปภาพโบราณ พระสมเด็จ แม่พิมพ์พระ หนังสือประวัติศาสตร์ที่ดัดแปลง และจากการตรวจสอบพบว่า ภาพถ่ายของหลวงวิจารณ์ เจียรนัย ที่กลุ่มผู้ต้องหาอ้างว่า เป็นช่างหลวงในราชสำนัก ผู้แกะพิมพ์พระสมเด็จ แท้จริงแล้วเป็นภาพของบรรพบุรุษครอบครัวอื่น โดยเจ้าของภาพถ่ายได้เข้ายืนยันกับตำรวจ พร้อมกับหลักฐานภาพถ่ายตัวจริง ส่วนวัตถุโบราณต่าง ๆ ตำรวจประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบ ยืนยันได้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกจัดทำขึ้นมาเพื่อเลียนแบบ

แม้ว่าผู้ต้องหา ทั้ง 3 คน จะให้การปฎิเสธแต่ตำรวจมั่นใจพยานหลักฐานที่มีว่าสามารถเอาผิดได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบเส้นทางการเงิน คาดว่ามีประชาชนหลงเชื่อมากกว่า 10,000 คน และมีมูลค่าความเสียหายเกือบ 100 ล้านบาท เบื้องต้นมีผู้เสียหายบางส่วนเข้าแจ้งความกับตำรวจเพื่อเอาผิดกับ ทั้ง 3 คนแล้ว

ขอบคุณภาพจาก : TraiThep Channel สมาชิกยูทูป

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark