ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

เผยผลข้างเคียงวัคซีนโควิด-19 จากจีน ที่เตรียมฉีดให้กลุ่มเสี่ยงในไทย ก.พ.นี้

เจาะประเด็นข่าวค่ำ - อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ประเทศจีน ให้กับคนไทยกลุ่มแรกช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ต้องอยู่ภายใต้การติดตามผลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องยอมรับว่าวัคซีนจากประเทศจีน ซึ่งยังคงอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา เช่นเดียวกับทั่วโลก อาจส่งผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ได้ ติดตามจากรายงานของคุณธัญญารัตน์ ถาม่อย

เดือนพฤศจิกายนปี 2563 มีรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศ กรณีรัฐบาลบราซิล ระงับการทดสอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ประเทศจีน หนึ่งในบรรดาวัคซีนหลายสิบตัวทั่วโลก ที่อยู่ในขั้นสุดท้ายของการทดลองในมนุษย์ หลังพบอาสาสมัครได้รับผลกระทบร้ายแรงถึงชีวิต

กระทั่งศูนย์ชีวการแพทย์สถาบันบูตันตัน ซึ่งทดลองวัคซีนในบราซิล ออกมาชี้แจงว่าการเสียชีวิตของอาสาสมัครไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัววัคซีนโดยตรง และได้เตรียมยื่นขออนุมัติใช้วัคซีนดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉิน เพื่อเปิดทางให้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน

แต่หลังจากนั้นก็ยังคงมีข่าวลือเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้เป็นระยะ กรณีล่าสุด มีสำนักข่าวต่างประเทศอ้างแหล่งข่าว ที่พบเห็นผลการทดลองว่าวัคซีนของบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค มีประสิทธิภาพไม่ถึงร้อยละ 60 จนสร้างความกังวลใจในวงกว้าง รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งจะนำวัคซีนตัวเดียวกันนี้มาฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงล็อตแรก ช่วงปลายเดือนหน้า

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า วัคซีนโรคโควิด-19 ที่เริ่มฉีดกันแล้วในหลายประเทศ ถือเป็นวัคซีนใหม่ ซึ่งยังไม่มีของบริษัทใดที่ทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3 อย่างครบถ้วน

เช่นเดียวกับวัคซีนของบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ที่จะนำเข้ามาฉีดให้คนไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าอาจมีผลข้างเคียง หรืออาการที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น แบ่งเป็นความรุนแรงน้อย ปานกลาง และมาก เช่น อาการแพ้เฉพาะที่บริเวณที่ฉีด หรืออาการ ไข้ ปวดศีรษะ เมื่อยล้า กรณีรุนแรงที่สุดคือ การเสียชีวิต นั่นทำให้การฉีดวัคซีนต้องอยู่ภายใต้การควบคุม มีระบบกู้ชีพ และติดตามผลในระยะยาว

นอกจากนั้นปัจจัยสำคัญ คือ การบริหารจัดการวัคซีนใน 3 ประเด็นใหญ่ ทั้งการควบคุมคุณภาพของวัคซีน การควบคุมความปลอดภัยระหว่างการฉีด-หลังการฉีด และการควบคุมความมั่นคง ไม่ให้เกิดการรั่วไหลของวัคซีนหรือการทุจริต

สำหรับช่วงแรก ที่วัคซีนโรคโควิด-19 มีจำนวนจำกัด เป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข คือ ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต

โดย 4 กลุ่มแรก ที่จะได้รับการฉีดวัคซีน ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน ซึ่งหากติดเชื้อโควิด-19 มักมีอาการรุนแรง ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น ทหาร ตำรวจ อสม. ที่ต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศ และในพื้นที่ที่มีการระบาด โดยจะเริ่มในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 5 จังหวัด ฉีดให้กลุ่มเสี่ยงคนละ 2 เข็ม ในระยะเวลาห่างกัน 1 เดือน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark