ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

รัฐบาลแจง ใครไม่มี Smartphone ก็สามารถร่วมโครงการเราชนะได้ รับ 7,000 บาท

ส่วนประเด็น ใครไม่มี Smartphone จะลงทะเบียนร่วมโครงการรัฐได้ยังไง โดยเฉพาะ "เราชนะ"โครงการความหวังรายสัปดาห์ ล่าสุด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เรื่องนี้ทีมงานได้คิดมาอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้คนที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือตกหล่นไป โดยคนส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.8 ล้านคน ไม่ต้องลงทะเบียน "เราชนะ" แต่จะได้รับเงินโอนเข้าบัตรโดยตรง ส่วนใครไม่มีบัตรสวัสดิการ และไม่มี Smartphone รัฐบาลได้ประสานงานให้เจ้าหน้าที่ธนาคารของรัฐที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ช่วยอำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มนี้ สามารถลงทะเบียนได้ ซึ่งได้รับการยืนยันมาแล้วว่าทำได้ ซึ่งรัฐบาลได้พิจารณาผลสำรวจเรื่องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พศ.2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่าประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 56.7ล้านคน คิดเป็น 89.6% ของประชากรที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบ Smartphone เข้าถึง Internet ค่อนข้างสูง คือ 96.4%

ส่วนคำถาม ทำไมไม่จ่ายเงินเข้าบัญชี (แล้วให้ถอนเป็นเงินสดได้ จะได้ใช้จ่ายเงินได้ตามใจชอบ) เพราะรัฐบาลเป็นห่วงเรื่องการสัมผัสธนบัตร ที่อาจติดเชื้อโควิด-19ได้ และยังคิดถึงเรื่องลดการแออัดที่ประชาชนจำนวนมาก ที่จะไปต่อคิวกดเงินสดออกจากตู้ ATM เหตุผลสำคัญอีกประการก็คือ ความต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า และให้เงินหมุนเวียนอยู่ในชุมชน นั่นเอง เพราะร้านค้าที่รับซื้อหรือรับบริการจะเป็นร้านเล็กๆ เรามีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือคนตัวเล็ก และให้เงินหมุนหลายรอบในระบบเพื่อช่วยเหลือการใช้เงินในชีวิตประจำวันของคนตัวเล็กให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ส่วนใครกำลังเล็งจะหาทางซิกแซก ใช้ประโยชน์ทางอ้อมจากโครงการ "ไทยชนะ" ที่จะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 29 มกราคมนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เผย อย่าลืมผู้ร่วมโครงการ จะต้องใช้เงินผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ซึ่งธนาคารกรุงไทย มีระบบเอไอตรวจสอบ คาดว่าพฤติกรรมที่เข้าข่ายกระทำผิด เช่นก็อาจจะมีความพยายามใช้เงินของแต่ละสัปดาห์ให้หมดภายในวันเดียว โดยใช้กับร้านค้ารายเดียว หรือ ผู้ซื้อกับผู้ขาย มีถิ่นพำนักไกลกันมากเกินไป แต่มีการใช้จ่ายทุกวัน เป็นต้น

สำหรับบทลงโทษ อาจใช้หลักการเดียวกันกับโครงการ "คนละครึ่ง" ด้วยการเริ่มจากตักเตือนก่อน หากยังกระทำผิดซ้ำ ต้องพิจารณาโทษที่รุนแรงมากขึ้น เช่น ผู้ที่กระทำผิดก็จะโดนตัดสิทธิ ส่วนร้านค้าก็จะโดนเพิกถอนออกจากระบบ อาจจะทำให้ขาดรายได้ไปจนถึงมาตรการลงโทษขั้นสูงสุด คือ ดำเนินคดีฐานฉ้อโกง

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark