แบไต๋7เอชดี (beartai7HD)

ไขข้อสงสัย ปลั๊กขาแบน ผิดกฎหมาย แล้วยังใช้ได้หรือไม่?

มีข่าวที่คนให้ความสนใจกันในโซเชียลว่า "ปลั๊กขากลม" ถูกกฎหมาย จำหน่ายได้ส่วน "ปลั๊กขาแบน" ​ที่คนไทยใช้กันมานมนาน กลายเป็นปลั๊กที่ผิดกฎหมาย ห้ามจำหน่าย หลายคนจึงเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น วันนี้เรามีคำตอบ!

เรียกว่าอัปเดตอีกครั้งกับ "สายไฟและอุปกรณ์ต่อพ่วง" เนื่องจากตอนนี้ มอก. 166-2549 เริ่มบังคับใช้แล้วแบบจริงจัง เพราะเรื่องของปลั๊กไฟสายไฟเป็นสินค้าควบคุมต้องใช้อย่างระมัดระวังและถูกต้องตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด

หลังจากที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ออกกฏหมายใหม่เกี่ยวกับเต้ารับและปลั๊กไฟ โดยต้องได้มาตรฐาน มอก. 166-2549 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา โดยห้ามผลิตและจัดจำหน่ายสายไฟและอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ ที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก. 166-2549 ส่งผลต่ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ อย่างที่ต้องปรับปรุงแก้ไขตามกฏหมายฉบับนี้

โดยสาเหตุที่มอก. 166-2549 ปรับรูปแบบของปลั๊กจากแบบ "ขาแบน" มาเป็นแบบ "ขากลม" เพื่อให้ปลั๊กไฟมีรูเสียบและเต้ารับที่สมดุลกัน ไม่แน่น ไม่หลวมเกินไป และที่สำคัญคือขากลมนั้นเหมาะสมกับแรงดันไฟฟ้า 220 โวลต์ที่ใช้ในไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในยุโรปหรือประเทศที่ใช้ไฟ 220 โวลต์ เหมือนไทยจะไม่เป็นขาแบน ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าจากอเมริกา, ญี่ปุ่น, แคนาดา และไต้หวัน จะเป็นปลั้กขาแบน เพราะใช้ไฟ 110 โวลต์

แต่อย่าเข้าใจผิดจนนำปลั๊กขาแบนที่เคยใช้อยู่แล้วไปทิ้งกันจนหมด ถึงแม้ที่บ้านใครตอนนี้ยังคงใช้ปลั๊กแบบขาแบนที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก. 166-2549 ก็ยังสามารถใช้งานได้อยู่เหมือนเดิม เพราะข้อห้ามของกฎหมายนี้คือ ห้ามขายของใหม่ เพื่อลดจำนวนปลั้กขาแบนในบ้าน หรือขายอยู่ก็ต้องยืนยันให้ได้ว่า เป็นของที่นำเข้าหรือผลิตก่อนเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 แต่ถ้าซื้อใหม่ตอนนี้ก็ต้องแบบ "ขากลม" ให้ถูกต้องและได้มาตรฐาน มอก. 166-2549 เท่านั้น

ดังนั้น ผู้ใช้ "ปลั๊กขาแบน" ไม่ได้ผิดกฏหมาย สามารถใช้ได้ต่อไป แต่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย จะต้องปรับมาเป็น "ปลั๊กขากลม" ให้ถูกต้องตามกฏหมายนั่นเอง

ติดตามรายการ แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20-12.40 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark